แมลงศัตรูข้าว และการป้องกันกำจัด

หนอนปลอกข้าว (rice caseworm)

 
 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Nymphula depunctalis Guenee
วงศ์ :Pyralidae
อันดับ :Lepidoptera
ชื่อสามัญอื่น :หนอนขยอก
 
 
 

        หนอนปลอกข้าว Nymphula depunctalis Guenee ตัว เต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกสีขาวมีแถบสีน้ำตาลอ่อนถึงดำ 2-3 แถบตามขอบปีก ลำตัวค่อนข้างบอบบาง มีขนาด 6-8 มิลลิเมตร ความยาวของปีเมื่อกางออกประมาณ 15 มิลลิเมตร เพศผู้ตายหลังจากผสมพันธุ์ เพศเมียตอนกลางวันชอบหลบอยู่ในนาข้าวและวางไข่ตอนกลางคืน  เพศเมียวางไข่เป็นแถว 1-2 แถว ติดกันบนผิวใต้ใบข้าวหรือก้านใบเหนือระดับน้ำ ไข่มีลักษณะกลม ผิวเรียบสีเหลืองอ่อน  ระยะไข่นานประมาณ 4 วัน   ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่มีสีครีมหัวสีเหลืองอ่อน ตัวหนอนที่โตเต็มที่มีสีเขียวอ่อน ตัวหนอนมีชีวิตกึ่งแมลงในน้ำ (semi-aquatic) มีเหงือกจำนวน 6 แถว สำหรับใช้รับอากาศจากน้ำ กินอาหารโดยทำปลอกหุ้มและอาศัยอยู่ในปลอกกัดกินส่วนผิวของใบอ่อนเกิดเป็นรอย ขาวเป็นแถบ เมื่อหนอนโตเต็มที่จะคลานขึ้นไปบนต้นข้าวแล้วยึดปลอกติดกับต้นข้าวอยู่เหนือ ผิวน้ำ  ตัวหนอนจะถักไหมทำรังรอบตัวและเข้าดักแด้อยู่ภายในปลอกและสลัดปลอกทิ้งเมื่อ มีการลอกคราบ ตัวหนอนมี 5 ระยะ  ระยะดักแด้ประมาณ 2 สัปดาห์

ผีเสื้อหนอนปลอก N. depunctalis Guenee
 
ไข่หนอนปลอก
ตัวหนอนระยะแรกและโตเต็มที่
ปลอกหุ้มต้วหนอน

ลักษณะการทำลาและการระบาด

        ตัวหนอนเริ่มกัดกินผิวใบอ่อนของข้าวและจะทำปลอกหุ้มลำตัวไว้ภายใน 2 วันต่อมา โดยตัวหนอนจะเคลื่อนย้ายไปยังปลายใบข้าวและกัดใบตรงด้านหนึ่งของเส้นกลางใบ และใช้สารที่สกัดจากร่างกายยึดริมขอบใบทั้งสองข้างเข้าหากันเป็นปลอกหุ้ม เห็นเป็นรอยเยื่อสีขาวบางๆไว้  ตัวหนอนสามารถเคลื่อนย้ายไปทำลายข้าวต้นอื่น โดยอาศัยปลอกลอยน้ำไปยังข้าวต้นใหม่ และคลานขึ้นไปกัดกินใบข้าวใหม่ต่อไปเรื่อยๆ  มักพบระบาดเฉพาะแปลงข้าวที่มีน้ำขัง ในนาชลประทานและนาที่ลุ่มอาศัยน้ำฝน ความเสียหายเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ  ต้นข้าวสามารถฟื้นตัวจากการทำลายใบในระยะแรกๆได้  การมีน้ำขังในแปลงตลอดช่วงข้าวเจริญเติบโตทางใบมีผลทำให้หนอนปลอกระบาดมาก ขึ้น  ถ้าระบาดรุนแรงก็สามารถทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น และแห้งตายเป็นหย่อมๆ แต่จะไม่เสียหายในระยะข้าวแตกกอเต็มที่แล้ว

สภาพน้ำข้าวที่ถูกหนอนปลอกทำลายอย่างรุนแรง
 

        ระบาดเป็นครั้งคราว หนอนกัดกินปลายใบและทำปลอกหุ้มตัว และลอยไปตามน้ำ โดยลมช่วยพัดพาไป ทำให้แพร่ระบาดไปทั่วแปลงนา

พืชอาหาร

ข้าว หญ้าข้าวนก หญ้าไซ หญ้าปล้องหิน หญ้าไม้กวาด

การป้องกันกำจัด

1). ระบายน้ำออกจากแปลงนา เพื่อทำลายตัวหนอน และระงับการแพร่ระบาดในนาข้าว

2). ใช้สารฆ่าแมลง เมื่อตรวจพบใบถูกทำลายมากกว่า 15% หรือพบใบห่อ 6-8 ใบต่อ 10 ต้น ใช้สารเบนซันแทป (แบนคอล 50% ดับบลิวพี) อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือฟิโพรนิล (แอสเซ็นด์ 5% เอสซี) อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร