แมลงศัตรูข้าว และการป้องกันกำจัด

แมลงค่อมทอง (snout weevil, green weevil)

   
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Hypomeces squamosus    Fabricius
วงศ์ : Curculionidae
อันดับ :Coleoptera
ชื่ออื่น : แมลงค่อม  แมลงกอม  แมลงช้างก๊อบ  ด้วงงวงกัดกินใบ

   แมลงค่อมทอง H. squamosus Fabricius เป็นด้วงงวงชนิดหนึ่ง มีเส้นแบ่งกลางตัว อก และปีก เป็น 3 ส่วน เห็นชัดเจน  ส่วนหัวซึ่งสั้นทู่ ยื่นโค้งไม่งุ้มเข้าใต้อก ปากสั้นกว้าง หนวดแบบรูปกระบอง และตาสีดำ 1 คู่ ส่วนอกมีขา 1 คู่ ส่วนท้องมีขา 2 คู่ ปีกคู่แรกแข็ง หุ้มปกคลุมถึงปลายส่วนท้อง ที่ส่วนท้ายค่อนข้างเรียวแหลมมิดชิด ลักษณะส่วนหลังจะนูนและโค้งงอ คล้ายหลังค่อมหรือท้องเรือ พบทั่วไปเป็นคู่ๆ หรือรวมกันเป็นกลุ่มอยู่ในทรงพุ่มลำต้นพืชอาหาร  สี มีหลายสีขึ้นกับชนิดของใบพืช  เพศเมียขนาดกว้าง 5.3 มิลลิเมตร ยาว  14.8  มิลลิเมตร   เพศผู้ขนาดกว้าง 4.9 มิลลิเมตร ยาว14.2 มิลลิเมตร จะวางไข่ในดินก่อนหรือหลังการปลูกข้าวไร่  ตัวเมียวางไข่ได้ 40-131 ฟอง ไข่มีลักษณะกลมรี ผิวเรียบเป็นมันสีขาวครีม ระยะไข่ 7 วัน   ตัวหนอนเป็นรูปตัว C ไม่มีขา   ระยะแรกๆ ลำตัวสีขาวใส และเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นเมื่อหนอนมีวัยมากขึ้น  หนอนมี  5-6 วัย  ระยะหนอน 22-37 วัน เข้าดักแด้ในดิน  ดักแด้สีเหลืองอ่อน มีปีกและขาอยู่ภายนอก เห็นชัดเจน ระยะดักแด้ 10-15 วัน เพศผู้อายุ 2-8 เดือน เพศเมียอายุ  4-12 เดือน 

ตัวเต็มวัยแมลงค่อมทอง H. squamosus Fabricius
หนอนแมลงค่อมทอง
 
ลักษณะต้นข้าวที่ถูกกัดกินส่วนลำต้นใต้ผิวดิน
ต้นกล้าข้าวที่ถูกทำลาย

ลักษณะการทำลาย

     แมลง ค่อมทอง เป็นแมลงศัตรูข้าวไร่ที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่ง พบระบาดทำลายข้าวไร่ตามแหล่งปลูกทั่วไป ทำลายต้นข้าวได้ทุกระยะการเจริญเติบ โต โดยกัดกินส่วนลำต้นใต้ผิวดิน บางครั้งพบกัดกินอยู่กลางกอข้าวในดิน ส่วนของต้นข้าวระยะเริ่มถูกทำลายมีสีเหลืองซีด ต่อมาส่วนนั้นจะแห้ง บางครั้งพบแห้งตายทั้งต้นในกอหรือแห้งตายทั้งกอ ข้าวในระยะต้นกล้าและแตกกอใหม่ๆ ถูกกัดกินและเสียหายมากที่สุด ก่อปัญหาด้านจำนวนต้นต่อพื้นที่และการซ่อมกล้าเช่นเดียวกับที่เกิดจากมด ง่าม  ผลผลิตต่อไร่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด  พบในแหล่งปลูกข้าวไร่ทั่วไป  ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม  ระยะกล้าถึงระยะแตกกอ

การป้องกันกำจัด

1). จับตัวเต็มวัยที่บินมาเกาะตามต้นพืชที่เป็นอาหารในช่วงฝนแรก ระยะปลายเดือนเมษายน-ต้นพฤษภาคม โดยใช้สวิงรองใต้กิ่งหรือใต้ใบพืช แล้วเขย่า ตัวเต็มวัยจะตกลงในสวิง นำไปทำลายทิ้ง

2). ไถพรวน ควรทำหลาย ๆ ครั้ง เพื่อทำลายไข่หรือหนอนที่อยู่ใต้ดิน

3). ในสภาพที่การระบาดประจำและรุนแรงใช้สารฆ่าแมลงคลุกเมล็ด คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 25% เอสที) อัตรา 40 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่  1  กิโลกรัม และนำไปปลูกทันที