แมลงศัตรูข้าว และการป้องกันกำจัด

ปลวก (termite, social cockroaches, white ant)

   
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Odontotermes  takensis (Ahmad)
Pericapritermes latigathus Holmgren
วงศ์ : Termitidae
อันดับ :Isoptera

         ปลวกเป็นแมลงศัตรูในดินของข้าวไร่ที่สำคัญชนิดหนึ่ง พบระบาดทำลายข้าวไร่ในแหล่งปลูกทั่วไป พบทำลายข้าวไร่มี 2 ชนิด คือ O. takensis Ahmad   และ P. latignathus  Holmgren  ปลวกทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นพวกที่อาศัยและสร้างรังอยู่ใต้ผิวดิน มีวงจรชีวิตและอุปนิสัยคล้ายคลึงกัน

         วงจรชีวิตของปลวกมี 3 ระยะ คือ ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย ไข่มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกแต่โค้งเล็กน้อยตรงส่วนปลาย  ปลวกจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ภายในรัง  ในระยะสร้างรังใหม่ ปลวกรุ่นแรกที่ออกมาจะเป็นปลวกงาน และจะมีปริมาณมากตามต้องการ ทั้งนี้เพราะต้องการปลวกที่ออกไปหาอาหารและดูแล ตัวอ่อนในรุ่นต่อไป  ปลวกรุ่นต่อมาจะเป็นปลวกทหาร ซึ่งจะออกมาเพียง 1-2 ตัว และจะเพิ่มปริมาณมากขึ้น ตัวอ่อนมีการลอกคราบหลายครั้ง หลังลอกคราบครั้งที่ 1 และ 2  ยังไม่สามารถแยกวรรณะได้ แต่จะแยกได้หลังจากการลอกคราบครั้งที่ 3-4 แล้วปลวกราชินีจะให้กำเนิดปลวกเพศผู้และเพศเมีย เพื่อช่วยทำหน้าที่ในการสืบพันธุ์ เมื่อปลวกราชินีตาย ปลวกเพศเมียจะทำหน้าที่ในการผสมพันธุ์ และวางไข่แทนปลวกราชินี  ปลวกเหล่านี้จะมีปุ่มปีก ซึ่งจะพัฒนาเป็นปีก เมื่อถึงฤดูแพร่พันธุ์จะบินออกไปจากรังเพื่อผสมพันธุ์ และสร้างรังใหม่

ลักษณะการทำลาย 

         ปลวกที่อยู่ใต้ผิวดิน กัดกินทำลายส่วนรากของข้าวไร่ทุกระยะการเจริญเติบโต ส่วนมากจะพบการทำลายของปลวกในระยะแตกกอสูงสุด ต้นข้าวที่ถูกทำลาย จะแสดงอาการเริ่มเหลืองหรือเหลืองซีดทั้งกอและแห้งตายในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ปลวกยังกัดกินทำลายส่วนลำต้น โดยเริ่มทำลายจากส่วนลำต้นใต้ดินขึ้นไปตามภาย ในปล้อง กัดกินเนื้อเยื่อภายในปล้อง และนำดินเข้าไปบรรจุเป็นรังแทนที่  ทำให้ต้นข้าวหักล้มที่ส่วนที่ถูกกัดกิน   การทำลายของปลวกจะรุนแรงมากขึ้น เมื่อฝนทิ้งช่วงเกิดความแห้งแล้งติดต่อกันนาน  มีผลทำให้ผลผลิตข้าวไร่ลดลง

 
ปลวก O. takensis Ahmad
ต้นข้าวที่ถูกปลวกทำลาย
 
สภาพต้นข้าวที่ปลวกกัดกินภายใน
    สภาพข้าวไร่มีปลวกทำลาย

การป้องกันกำจัด

  • หากพบรังปลวกขณะเตรียมดิน ให้ขุดทำลาย หรือไถพรวนดินหลายครั้งเพื่อทำลายรัง
  • ในพื้นที่ที่พบรังปลวกประจำให้คลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารคาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 25% เอสที) อัตรา 20 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม โดยคลุกให้ทั่วและนำไปปลูกทันที