ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากข้าว

กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเช้า

อาหารเช้า หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า breakfast cereal แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

(1) ชนิดที่ต้องต้มกับนมหรือน้ำเพื่อบริโภค (hot cereal, breakfast cereal) ได้แก่โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป ที่ใช้เวลาต้มสั้นๆ ข้าวที่นำมาผลิตอาจเป็นปลายข้าวหรือแป้งข้าวบดเพื่อช่วยให้ต้มสุกเร็ว อาจมีการเติมรสชาติต่างๆ ตัวอย่างอาหารเช้าชนิดนี้ได้แก่ โจ๊ก 7 นาที ควิ๊กโจ๊ก
        ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว ได้พัฒนาโจ๊กกึ่งสำเร็จรูปจากข้าวกล้องงอก  โดยนำข้าวกล้องงอกที่เพาะเป็นเวลา 26 ชั่วโมง ในสภาพมืด มาหุงโดยใส่น้ำในอัตราส่วน 1:1 โดยน้ำหนัก นำข้าวสุกไปบด และทำให้แห้งด้วยเครื่องอบแห้งแบบลูกกลิ้ง (drum dry) ได้เกล็ดแผ่นแป้ง นำไปบดให้เป็นผงแป้ง นำเครื่องปรุงที่อบ แห้งแล้วมาผสม ได้แก่ แครอท เห็ดหอม ต้นหอม เกลือ น้ำตาล ผลิตภัณฑ์โจ๊กกึ่งสำเร็จรูปจากข้าวกล้องงอก สามารถเก็บได้นาน 5 เดือน   

 

         นอกจากนี้ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูป โดยนำเมล็ดข้าวหักที่คัดแยกจากการทำข้าวกึ่งสำเร็จรูปมาผสม แป้งพรีเจล เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความข้นหนืด ผสมกับเนื้อสัตว์อบแห้ง และผักอบแห้งต่างๆ เช่น แครอท และใบหอม รวมกับเครื่องปรุง  เกลือ น้ำตาล และพริกไทย

(2) ชนิดที่บริโภคได้ทันที (Ready to eat breakfast cereal) ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้อาจมีการนำธัญพืชอื่นมาผสม ในกระบวนการผลิตอาจเตรียมเป็นลักษณะของวัตถุดิบ สุก แห้ง เป็นแผ่นเล็กๆ (flake) หรือเป็นก้อนโด (dough) แล้วจึงทำให้พองหรือคั่ว คุณภาพของผลิตภัณฑ์ขึ้นต้นอยู่กับระยะเวลาทำให้สุก (cooking time) ความดัน อุณหภูมิของวัตถุดิบและการคั่ว ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจมีการเติมสารปรุงรส วิตามิน แร่ธาตุและโปรตีน เพื่อเสริมโภชนาการ  เช่น rice  crispy 
    ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มธัญพืช ซึ่งถือเป็นอาหารเช้า  เพียงชงน้ำร้อนแล้วบริโภคได้ทันที โดยนำสารละลายน้ำแป้งข้าวกล้องจากข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ105 หรือปทุมธานี1 มาทำแห้งด้วยเครื่องอบแห้งแบบลูกกลิ้ง(drum dryer)ได้เป็น flake ข้าวกล้อง  ผสมกับธัญพืชอื่นๆ ได้แก่ flake ลูกเดือย และflake ข้าวโพด และปรับปรุงรสชาติ โดยเติมนมผง ครีมเทียม และน้ำตาล