แตนเบียนหนอนห่อใบข้าว |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
แตนเบียน Goniozus sp. ตัวเต็มวัยมีสีดำมัน ตัวมีสีดำสนิท หนวดสีน้ำตาล ปีกคลุมไปถึงปลายส่วนท้อง ก้นแหลม ขาทั้ง 3 คู่ จากทิเบียถึงทาร์ไซมีสีน้ำตาล เพศเมียขนาดลำตัวยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร เพศผู้ขนาด 2.8-3.0 มิลลิเมตร ขนาดลำตัวแปรผันตามขนาดของแมลงอาศัย เป็นแตนเบียนที่มีความสำคัญในการลดปริมาณหนอนห่อใบข้าว ชอบทำลายหนอนห่อใบข้าววัยที่ 4-5 จัดเป็นแตนเบียนภายนอกชนิดทำลายเป็นกลุ่ม (gregarious external parasites) เพศเมียจะวางไข่บนตัวหนอนห่อใบข้าว หนอนแตนเบียนจะกินอยู่ภายนอกตัวหนอนห่อใบข้าวจนโตมีสีเหลือง เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ก็จะเข้าดักแด้ โดยปั่นเส้นใยสีน้ำตาลหุ้มดักแด้ไว้ข้างใน พบทั่วไปในนาข้าว ตัวเต็มวัย Goniozus sp. เพศเมียวางไข่บนตัวหนอนห่อใบข้าว
แตนเบียน Apanteles sp. ตัวเต็มวัยขนาดลำตัวยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร สีน้ำตาลถึงดำ ส่วนหัว อก และท้องมีสีดำ ด้านบนของท้องปล้องแรกมีลักษณะเป็นแผ่นแข็งเล็กๆ ขาอาจมีสีดำหรือดำสลับเหลืองอ่อน เพศเมียอวัยวะวางไข่ยื่นออกจากส่วนท้องเด่นชัด เพศผู้หนวดสีดำยาวใกล้เคียงกับลำตัว ฟีเมอร์ของขาหน้ามีสีน้ำตาล หรือดำ ทิเบียสีน้ำตาล ทาร์ไซขาคู่หลังดำ A. angustibasis Gahan ตัวเต็มวัยมีสีดำ ลำตัวมีขนาดเล็กกว่า Apanteles sp. โดยมีขนาด 1.5-2.0 มิลลิเมตร แตนเบียน Apanteles เป็นแตนเบียนที่ว่องไว ไม่อยู่นิ่ง ทำลายหนอนห่อใบข้าว โดยเพศเมียจะวางไข่ในตัวหนอนห่อใบข้าว หนอนของแตนเบียนจะเจริญเติบโตภายในหนอนห่อใบข้าว และออกมาเข้าดักแด้ภายนอกและมีใยสีขาวหุ้มดักแด้ไว้ เป็นดักแด้เดี่ยวๆ (solitary parasite) มีใยสีขาวดักหุ้มไว้ ซึ่งต่างจาก Cotesia (=Apanteles) flavipes Cameron ที่ดักแด้ออกมาเป็นกลุ่ม (gregarious parasite) ตัวเต็มวัยแตนเบียน Apanteles sp. ดักแด้แตนเบียน Apanteles sp.
แตนเบียน Cardiochiles sp. ตัวเต็มวัยมีขนาดยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร หนวดสีดำปลายเรียว ความยาวของหนวดเท่ากับลำตัว ส่วนหัว อก และท้องมีสีดำสนิท เพศเมียมีอวัยวะวางไข่ยื่นเลยส่วนท้องไปเล็กน้อย ปลายปีกหน้าประมาณหนึ่งในสามของความยาวปีก มีสีน้ำตาลเข้มพาดถึงปีกด้านหลัง โคนปีกทั้งสองข้างมีสีน้ำตาล ขาทั้ง 3 คู่มีสีดำ ยกเว้นขาคู่หน้าจากปลายฟีเมอร์ถึงทาร์ไซสีน้ำตาลแก่ ทาร์ไซมี 5 ปล้อง Cardiochiles sp. เป็นแตนเบียนที่ทำลายหนอนห่อใบข้าว มีบทบาทน้อยกว่าเมื่อเทียบกับแตนเบียน Temelucha philippinensis, Macrocentrus sp. และ Copidosomopsis sp. เพศเมียวางไข่ภายในตัวหนอนห่อใบข้าว หนอน ของแตนเบียนจะเจริญเติบโตภายในหนอนห่อใบข้าว และออกมาเข้าดักแด้ข้างๆ ตัวหนอน โดยปั่นเส้นใยหุ้มดักแด้เห็นเป็นสีขาว เป็นแตนเบียนชนิดเดี่ยวๆ (solitary parasite) ตัวเต็มวัยแตนเบียน Cardiochiles sp.
แตนเบียน Copidosomopsis sp. เป็นแตนเบียนมีขนาดเล็กยาวประมาณ 0.5 มิลลิเมตร หัว ตา อก และท้องมีสีดำ หนวดมี 5 ปล้องนับจากเพดิเซล (pedicel) มีสีน้ำตาล ปลายหนวดเป็นรูปกระบอง ขาคู่หน้าสีน้ำตาลอ่อน ทิเบียของขาคู่หลังมีสีดำ เป็นแตนเบียนที่มีประสิทธิภาพในการทำลายหนอนห่อใบข้าว เพศเมียวางไข่ภายในไข่ของหนอนห่อใบ และเจริญเติบโตภายในหนอนห่อใบข้าว ในระยะหนอนสามารถเพิ่มปริมาณได้มาก มีการแบ่งตัวหลายครั้ง จนเกิดเป็นตัวอ่อนจำนวนมากถึง 200-300 ตัว (gregarious parasite) ในหนอนห่อใบข้าว 1 ตัว สามารถมองเห็นดักแด้ด้วยตาเปล่าตามผนังลำตัวของหนอนห่อใบข้าว
แตนเบียน Elasmus sp. ตัวเต็มวัยมีลักษณะลำตัวแบนด้านข้าง สีดำมีประกายเหลืองเขียว เพศผู้ขนาดเล็กกว่าเพศเมียและมีหนวดที่ต่างกันโคนหนวดและขาสี เหลืองใส ทิเบียของขาคู่กลางและคู่หลังด้านบนมีขนสีดำ ด้านของหัว อก และท้องสีดำวาวเหลือบเขียว ส่วนท้องด้านล่างเป็นสันสีน้ำตาล หนวดเพศเมียสีขาว ส่วนที่เหลือมีสีเทาอ่อน ขาสีขาวใส โดยทั่วไปพบเพศผู้มากกว่าเพศเมีย แตนเบียน E. claripennis Cameron ตัวเต็มวัยมีลักษณะแบนด้านข้าง สีดำมีประกายเหลืองเขียว อกส่วนกลางและส่วนที่เชื่อมกับท้องปล้องแรกสีเหลือง ท้องส่วนต้นมีสีเหลืองส้ม โคนหนวดและขาสีเหลือง โคนขา (coxa) คู่กลางและคู่หลังสีเขียวดำ ทิเบียของขาหลังด้านบนมีขนสีดำเรียงเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน 4 อัน เพศเมียมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 2.5-3.0 มิลลิเมตร ส่วนท้องด้านล่างเป็นสันมีสีน้ำตาล หนวดแบบข้อศอก (geniculate) สีน้ำตาล ตัวผู้สีดำทั้งตัว ลำตัวขนาดประมาณ 1.5-2.1 มิลลิเมตร ระยะตัวเต็มวัยนาน 4-6 วัน
ตัวเต็มวัยแตนเบียน Elasmus sp. ดักแด้แตนเบียน Elasmus sp.
แตนเบียน Macrocentrus sp. แตนเบียนชนิดนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เพศเมียมีขนาดยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร เพศผู้ 4.5 มิลลิเมตร หนวดสีน้ำตาล ตาใหญ่สีดำ ส่วนหัว อก และท้องด้านหลังมีสีน้ำตาลแดง ส่วนท้องด้านบนตั้งแต่ปล้องแรกจนปล้องที่ 3 มีสีน้ำตาลแก่เข้ม ปีกสั้นกว่าส่วนท้องเล็กน้อย อวัยวะวางไข่ของเพศเมียมีลักษณะเป็นเข็มยาวสีน้ำตาลดำ เป็นแตนเบียนที่มีความสำคัญในการลดปริมาณหนอนห่อใบข้าว เพศเมียชอบวางไข่ภายในตัวหนอนห่อใบข้าววัยที่ 2-3 และเจริญเติบโตภายในตัวหนอนห่อใบข้าว และฟักออกมาเป็นดักแด้หลังจากหนอนห่อใบข้าวตาย เป็นแตนเบียนดักแด้แบบเดี่ยว (solitary parasite) เข้าดักแด้มีสีน้ำตาลแดงและมีใยหุ้มเล็กน้อย ตัวเต็มวัยแตนเบียน Macrocentrus sp. ลักษณะแตนเบียนดักแด้แบบเดี่ยว (solitary parasite)
แตนเบียน S. japonicus (Ashmead) เป็นแตนเบียนขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยเพศเมียขนาดยาวประมาณ 1.8-2 มิลลิเมตร ส่วนเพศผู้มีขนาดเล็กกว่า ยาวประมาณ 1.5-1.7 มิลลิเมตร โคนหนวดของเพศผู้ขยายใหญ่กว่าเพศเมีย ส่วนหัว อก และท้องมีสีอ่อนกว่า ขาทั้ง 3 คู่ มีสีน้ำตาลอ่อน ปีกใสไม่มีเส้นปีก ท้องและอกเชื่อมต่อด้วยอวัยวะเป็นท่อเล็กๆ อวัยวะวางไข่เพศเมียยาวเสมอปลายท้อง เดินและบินอย่างว่องไว เพศเมียวางไข่ภายนอกตัวหนอนห่อใบข้าว ชอบวางไข่บนตัวหนอนวัยที่ 3-5 หนอนของแตนเบียนมีสีขาว อาศัยดูดกินตัวหนอนห่อใบข้าวอยู่ภายนอก เมื่อโตเต็มที่ก็จะเข้าดักแด้ข้างเหยื่อ ระยะใกล้ฟักเป็นตัวเต็มวัยของดักแด้มีสีดำ บางครั้งพบถึง 15 ดักแด้ต่อหนอน 1 ตัว แตนเบียนนี้พบไม่บ่อยนัก |
|||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
|