แตนเบียนไข่ – หนอนแมลงบั่ว |
|||||||||||||||||
แตนเบียน P. oryzae Cameron ตัวเต็มวัยมีขนาดยาวประมาณ 0.9-1 มิลลิเมตร ตัวสีดำ หนวดหักเป็นข้อศอก ปลายหนวดสีน้ำตาลสีเข้มกว่าส่วนโคนหนวด อกด้านหลังส่วนกลางกว้างกว่าส่วนแรกและส่วนท้าย ปีกใสไม่มีเส้นปีก ปีกยาวเลยส่วนท้องเล็กน้อย ขาทั้ง 3 คู่สีน้ำตาล ส่วนทาร์ไซสีจางกว่า ส่วนอกและท้องเชื่อมต่อกันด้วยอวัยวะเป็นท่อเล็กสั้น แตนเบียน P. foersteri (Gahan) ตัวเต็มวัยต่างกับ P. oryzae Cameron ที่หนวดแต่ละปล้องจะยาวกว่าและขามีสีเหลือง แตนเบียน Platygaster sp. ลำตัวมีสีน้ำตาลเข้ม หนวดทุกปล้องมีสีน้ำตาลและค่อนข้างสั้น ขาสีเหลือง แตนเบียน Platygaster เป็นศัตรูธรรมชาติที่สำคัญของไข่และหนอนแมลงบั่ว โดยจะเข้าทำลายแมลงบั่วตั้งแต่ระยะไข่ และเจริญเติบโตจนถึงระยะหนอน ซึ่งจะมีหนอนแตนเบียนเป็นจำนวนมาก เดิมเชื่อกันว่าการที่มีปริมาณแตนเบียนอยู่ในตัวหนอนแมลงบั่วมาก เนื่องจากการแบ่งตัวของเซลล์หลังการวางไข่ ต่อมาจึงทราบว่าเป็นเพราะแตนเบียนวางไข่ไว้เป็นจำนวนมาก แตนเบียนนี้สามารถลดปริมาณแมลงบั่วลงได้มาก เพราะการเพิ่มจำนวนของแตนเบียนมีมาก ซึ่งสามารถทำลายไข่แมลงบั่วได้มากด้วย พบทั่วไปในที่มีแมลงบั่วทำลายข้าว ลักษณะของหลอดบั่วที่มีแตนเบียนชนิดนี้อยู่จะอวบ อ้วน และสั้นขาวกว่าหลอดบั่วธรรมดา เมื่อเป็นตัวเต็มวัยแตนเบียนจะกัดเจาะหลอดบั่วด้านบนออกมาเป็นรู
|
|||||||||||||||||