พันธุ์ข้าว

กข33 (หอมอุบล 80)

ชื่อพันธุ์ - กข33 (หอมอุบล 80)
ชนิด - ข้าวเจ้า
คู่ผสม - ขาวดอกมะลิ 105/IR70177-76-3-1/2*ขาวดอกมะลิ 105
ประวัติพันธุ์ - เป็นผลงานวิจัยระหว่างสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) กับ ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว โดยทำการผสมพันธุ์ที่สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เมื่อ พ.ศ. 2538 ระหว่างพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เป็นพันธุ์แม่กับสายพันธุ์ IR70177-76-3-1 ซึ่งมีความต้านทานต่อโรคไหม้และปรับตัวได้ดีในสภาพนาน้ำฝนเป็นพันธุ์พ่อ ใน พ.ศ. 2539 ปลูกลูกผสมชั่วที่ 1 ที่ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี
พ.ศ. 2540 ปลูกพันธุ์ผสมชั่วที่ 2 คัดเลือกต้นที่มีความต้านทานโรคไหม้ และมีลักษณะทางการเกษตรดี ปลูกทดสอบความหอม พ.ศ. 2540-2541 ใช้ต้นที่เมล็ดมีความหอมผสมกลับกับพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 สร้างประชากรผสมกลับชั่วที่ 1  และชั่วที่ 2  คัดเลือกสายพันธุ์ที่มีความต้านทานโรคไหม้และคุณภาพการหุงต้มดี  พ.ศ. 2542-2545 ทดสอบการให้ผลผลิตเบื้องต้น ที่ศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี ในฤดูนาปรัง พ.ศ.2546 และในฤดูนาปี พ.ศ.2546-2548 เปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีและในนาราษฎร์ ที่ศูนย์วิจัยข้าวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน และประเมินการยอมรับของเกษตรกรในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์แบบเกษตรกรมีส่วนร่วม ได้สายพันธุ์ดีเด่น IR77924-UBN-62-71-1-2
การรับรองพันธุ์ - คณะกรรมการพิจารณาพันธุ์ กรมการข้าว มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง  ชื่อ
กข33(หอมอุบล 80) เพื่อแนะนำให้เกษตรกรปลูก เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2550

ลักษณะประจำพันธุ์ -

เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง

  - อายุเก็บเกี่ยว 130 วัน
  - ทรงกอตั้ง ต้นค่อนข้างแข็ง ใบสีเขียว ใบธงหักลง รวงแน่นปานกลาง คอรวงยาว
  - เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ขนสั้น
  - ข้าวกล้องสีขาวรูปร่างเรียว เป็นท้องไข่น้อย
  - ระยะพักตัวของเมล็ดพันธุ์ประมาณ 8 สัปดาห์
  - เมล็ดข้าวเปลือก ยาว x กว้าง x หนา = 10.6 x 2.5 x 2.0 มิลลิเมตร      
  - เมล็ดข้าวกล้อง ยาว x กว้าง x หนา = 7.5 x 2.1 x 1.8 มิลลิเมตร
  - ปริมาณอมิโลสต่ำ (14.0 -16.8 %)
ผลผลิต - เฉลี่ย 493 กิโลกรัมต่อไร่
ลักษณะเด่น -

ต้านทานโรคไหม้โดยเฉพาะเชื้อราสาเหตุโรคไหม้ (Pyricularia grisea Sacc.) ที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนหลายสายพันธุ์

  - คุณภาพเมล็ดทางกายภาพ คุณสมบัติทางเคมีและคุณภาพการหุงต้มและรับประทาน ใกล้เคียงพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105
ข้อควรระวัง - ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้งและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
พื้นที่แนะนำ - พื้นที่นาอาศัยน้ำฝนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนบนที่ฝนหมดเร็ว