แมลงศัตรูข้าว และการป้องกันกำจัด

แมลงหล่า (rice black bug หรือ Malayan black bug)

 
 
ชื่อวิทยาศาสตร์: Scotinophara coarctata (Fabricius)
วงศ์ : Pentatomidae
อันดับ :Hemiptera
ชื่อสามัญอื่น : เพลี้ยหล่า กือซืงฆูรอ กูฆอ อีบู
 
 
 

        แมลงหล่า Scotinophara coarctata (Fabricius) เป็นมวนชนิดหนึ่ง มีลักษณะค่อนข้างกลมคล้ายโล่ห์ ด้านหัวและอกเป็นรูปสามเหลี่ยม ลำตัวมีสีน้ำตาลหรือดำเป็นมันวาว ยาว 7-8 มิลลิเมตร กว้าง 4-5 มิลลิเมตร เพศผู้มีขนาดเล็กกว่าเพศเมีย ชอบอาศัยรวมกลุ่มที่โคนต้นข้าวเหนือระดับน้ำในตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนจะเคลื่อนย้ายขึ้นบนต้นข้าว เพศเมียวางไข่ประมาณ 200 ฟอง โดยวางไข่เป็นกลุ่ม จำนวน 20-26 ฟองต่อกลุ่ม เรียงเป็นแถวขนานกัน วางไข่ที่ใบข้าวหรือกาบใบบริเวณโคนต้นข้าวใกล้ระดับผิวน้ำ หรือบางครั้งอาจจะวางบนพื้นดิน ไข่มีสีชมพูแกมเขียว ระยะไข่ 4-6 วัน ตัวอ่อนมี 6 ระยะ ตัวอ่อนมีสีน้ำตาลและสีเหลืองกับจุดสีดำ ระยะตัวอ่อน 20-30 วัน ตัวอ่อนมีพฤติกรรมเหมือนตัวเต็มวัย คือหลบซ่อนอยู่ที่โคนต้นข้าวหรือตามรอยแตกของพื้นดินในตอนกลางวันและหากินในตอนกลางคืน ตัวเต็มวัยมีอายุนานถึง 214 วัน อยู่ข้ามฤดูหนาวหรือฤดูแล้ง โดยฟักตัวอยู่ในร่องระแหงดินในที่มีหญ้าขึ้น เมื่อสภาพภูมิอากาศเหมาะสมจะบินเข้าแปลงนา และขยายพันธุ์หลายรุ่น มีการพักตัวหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ตัวเต็มวัยสามารถอพยพได้ระยะทางไกลๆ

ลักษณะการทำลายและการระบาด

        ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากกาบใบข้าวบริเวณโคนต้นข้าว ทำให้บริเวณที่ถูกทำลายเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเหลือง ขอบใบข้าวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำคล้ายข้าวเป็นโรคไหม้ ตามข้อของลำต้นข้าวเป็นบริเวณที่แมลงหล่าชอบเพราะเป็นแหล่งที่มีน้ำเลี้ยง มาก การทำลายในระยะข้าวแตกกอทำให้ต้นข้าวที่อยู่กลางๆ กอข้าวมีอาการแคระแกร็น มีสีเหลืองหรือเหลืองแกมน้ำตาล และการแตกกอลดลง ถ้าทำลายหลังระยะข้าวตั้งท้องทำให้รวงข้าวแกร็น ออกรวงไม่สม่ำเสมอและรวงข้าวมีเมล็ดลีบ ต้นข้าวอาจเหี่ยวตายได้ ถ้ามีแมลงจำนวนมากทำให้ต้นข้าวแห้งไหม้คล้ายกับถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ทำลาย แมลงหล่าทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต แต่มักพบทำลายในช่วงข้าวแตกกอเต็มที่ถึงเก็บเกี่ยว

อาการต้นข้าวที่ถูกแมลงหล่าทำลาย
สภาพนาข้าวที่มีการระบาดรุนแรง

        แมลงหล่ามักพบระบาดในข้าวนาสวน นาชลประทานพบมากกว่านาน้ำฝน พบในนาหว่านมากกว่านาดำ เนื่องจากความหนาแน่นของต้นข้าวนาหว่านมีมากกว่านาดำ ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะแก่การอยู่อาศัย โดยทั่วไปแมลงหล่าชอบสภาพที่ร่มและเย็น ในฤดูนาปีการระบาดมีมากกว่านาปรัง พบระบาดเป็นครั้งคราวในบางท้องที่ แต่การระบาดแต่ละครั้งมักทำความเสียหายรุนแรง ดังเช่น ปี พ.ศ. 2538-2539 มีรายงานการระบาดของแมลงหล่าที่อำเภอเมือง อำเภอตากใบ อำเภอระแงะ และ กิ่งอำเภอบาเจาะ เป็นพื้นที่ 36,335 ไร่ โดยเฉพาะที่อำเภอตากใบระบาดถึง 23,151 ไร่ ในปี พ.ศ. 2542 แมลงหล่าระบาดทำความเสียหายแก่ข้าวในหลายท้องที่ของภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดนราธิวาส พบระบาดถึง 22,000 ไร่ สาเหตุการระบาดของแมลงหล่าในจังหวัดนราธิวาส ไม่สามารถชี้ชัดว่ามาจากสาเหตุใด แต่มีข้อสังเกตว่าพบระบาดในพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วม และโดยทั่วไปเกษตรกรไม่มีการใช้สารฆ่าแมลงในการปลูกข้าว พันธุ์ข้าวที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง ในปี พ.ศ. 2545 พบระบาดที่อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี แต่ไม่รุนแรงนัก และ ปี พ.ศ. 2546 พบระบาดที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ในข้าวอายุประมาณ 45 วัน ปี พ.ศ. 2547 พบระบาดในนาข้าวของเกษตรกรที่คลองแปด และ คลองสิบสี่ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ปี พ.ศ. 2549 พบระบาดที่อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปี พ.ศ. 2550 พบระบาดที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ในข้าวระยะแตกกอเต็มที่จนถึงระยะออกรวง ทำให้ตันข้าวแห้งตาย ผลผลิตเสียหาย คาดว่าแมลงชนิดนี้จะเริ่มมีความสำคัญในนาข้าวบริเวณนี้เนื่องจากพบระบาดทำ ความเสียหายมาจนถึงปัจจุบัน

พืชอาหาร

        ข้าวป่า หญ้าชันกาด ข้าวโพด

การป้องกันกำจัด

1) ใช้แสงไฟฟ้าล่อแมลงและทำลายในช่วงที่มีการระบาด เนื่องจากแมลงหล่าชอบบินมาเล่นแสงไฟเวลากลางคืน

2) ปลูกข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้นเพื่อลดการเพิ่มประชากรในนาข้าว

3 ) กำจัดวัชพืชที่ขึ้นหนาแน่นในนาข้าว เพื่อให้นาข้าวโปร่ง แสงแดดส่องถึงโคนต้นข้าว ทำให้สภาพนาข้าวไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของแมลงหล่า

4 ) หมั่นตรวจนาข้าวสม่ำเสมอหรือทุกสัปดาห์ ในระยะข้าวแตกกอแต็มที่ถึงเก็บเกี่ยว ถ้าพบแมลงหล่ามากกว่า 5 ตัวต่อกอหรือกลุ่มข้าว ควรใช้สารฆ่าแมลง คาร์โบซัลแฟน (พอสซ์ 20% อีซี) อัตรา 80 มิลลิเมตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเฉพาะจุดที่มีการระบาด โดยพ่นบริเวณโคนต้นข้าว