ข้าววัชพืช
1. ข้าววัชพืช คืออะไร ต่างกับข้าวทั่วไปอย่างไร
ข้าวที่ชาวนาใช้ปลูกทั่วไป มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryza sativa L. ใช้ปลูกในประเทศไทยมากกว่า 100 พันธุ์ เรียกในที่นี้ว่าข้าวปลูก เป็นพันธุ์ข้าวที่ถูกคัดเลือกให้มีลักษณะที่ต้องการเช่นผลผลิตสูง ข้าวสารมีสีขาว ใส คุณภาพหุงต้มนุ่มและหอม ไปจนถึงร่วนแข็ง ต้านทานต่อโรคหรือแมลงที่สำคัญ ข้าวพันธุ์หนึ่งจะมีลักษณะทางการเกษตรต่างๆ เหมือนกันและคงตัว คือในพันธุ์เดียวกันจะมีลักษณะ สีใบ ทรงกอ ความสูง การออกรวง สีเปลือก สีข้าวกล้อง เหมือนกันและคงตัว และทุกพันธุ์จะมีลักษณะสำคัญคือเมล็ดจะสุกแก่ใกล้เคียงกันคือหลังบานดอกแล้วประมาณ 28-30 วัน พร้อมที่จะถูกเก็บเกี่ยวและถูกนวดให้หลุดจากรวง คือจะไม่สุกแก่ก่อนเวลาไม่หลุดร่วงเองได้ง่ายๆ และข้าวเปลือกจะไม่มีหางหรือถ้ามีก็จะสั้นมาก
ข้าวป่าเป็นบรรพบุรุษของข้าวที่ใช้ปลูกในปัจจุบัน เป็นข้าวอีกชนิดหนึ่งที่มีตามธรรมชาติทั้งในที่ลุ่มลึกและบนที่ดอน ข้าวป่ามีหลายชนิดและที่มีความสำคัญและคาดว่าจะเป็นเชื้อพันธุ์ของข้าววัชพืชมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryza rufipogon Griff. ข้าวป่าแม้จะสามารถแบ่งเป็นหลายชนิด ในแต่ละชนิดจะมีหลายลักษณะ แต่มีลักษณะสำคัญหลายประการที่มีในข้าวป่าทุกชนิดคือ เมล็ดในรวงเดียวกันสุกแก่ไม่พร้อมกันตั้งแต่ 9-30 วัน เมื่อสุกแก่ก็จะหลุดร่วงได้เอง เมล็ดมีระยะพักตัวหลากหลายตั้งแต่ไม่มีระยะพักตัวไปจนถึงระยะพักตัวหลายปี เมล็ดข้าวเปลือกและข้าวกล้องของข้าวป่าจะมีหลากหลายสี เมล็ดอาจมีหางยาวมากกว่า 10 เท่าตัวของเมล็ด และมีหลายสี
ข้าวปลูกพันธุ์ กข31
|
ข้าวป่า Oryza rufipogon Griff.
ในสภาพธรรมชาติ
|
|
|
“ข้าววัชพืช” มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า weedy rice เป็นวัชพืชชนิดหนึ่งที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงในนาภาคกลางจนถึงภาคเหนือตอนล่าง มีลักษณะเหมือนต้นข้าวจนแยกไม่ออกในระยะกล้า มีชื่อเรียกต่างๆกันไปในแต่ละท้องถิ่นตามลักษณะของข้าววัชพืชที่ปรากฏเช่น ข้าวหาง เนื่องเมล็ดมีหางยาว ข้าวดีด ข้าวเด้ง เนื่องจากเมื่อเมล็ดแก่ และถูกลมพัดหรือคนไปสัมผัส เมล็ดจะร่วง ข้าวลาย เนื่องเมล็ดมีเปลือกลาย ข้าวแดง เนื่องจากเมื่อแกะเมล็ดจะพบว่าเมล็ดข้าวกล้องมีสีแดง ดาวกระจาย เนื่องจากลักษณะรวงจะกางออกและเมื่อเมล็ดแก่จะร่วงและกระจายไปรอบๆ เป็นต้น เคยระบาดในประเทศไทยที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช ปราจีนบุรี และพิษณุโลกในปี 2518 ความเสียหายที่จังหวัดปราจีนบุรี ทำให้ผลผลิตลดลงมากกว่า 80% แต่ก็มีการจัดการได้ซึ่งสมัยนั้นโดยการเผาฟาง เปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ การเขตกรรมโดยการไถล่อข้าววัชพืชหลายครั้ง เนื่องจากชาวนายังทำนาปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และพบการระบาดรุนแรงอีกครั้งเมื่อปี 2544 ที่จังหวัดกาญจนบุรี จนถึงปัจจุบัน ข้าววัชพืชขยายวงกว้างของการระบาดออกไปเรื่อย ๆ จากการสำรวจข้อมูลการระบาดของข้าววัชพืชในฤดูนาปี 2550 พบการระบาดในพื้นที่นาของประเทศไทยถึง 19.2 ล้านไร่
ความแตกต่างของ ข้าวปลูก ข้าวป่า และข้าววัชพืช
ข้าวปลูก
|
ข้าวป่า
|
ข้าววัชพืช
|
เมล็ดยาว
|
เมล็ดสั้นป้อม
|
เมล็ดสั้นป้อม - เมล็ดยาว
|
ไม่มีหาง
|
หางยาวกว่า 10 เท่าของเมล็ด
|
ไม่มีหาง-หางยาว
|
ออกรวงใกล้เคียงกัน
|
ออกรวงไม่พร้อมกัน
|
ออกรวงไม่พร้อมกัน
|
สุกแก่พร้อมกันทั้งรวง
|
สุกแก่ไม่พร้อมกันทั้งรวง
|
สุกแก่ไม่พร้อมหรือพร้อมกัน
|
ข้าวเต็มเมล็ด> 95 %
|
ข้าวเต็มเมล็ด 5-10 %
|
ข้าวเต็มเมล็ด 50-95 %
|
เมล็ดร่วงยากปานกลาง
|
เมล็ดร่วงง่าย
|
เมล็ดร่วงง่าย-ร่วงยาก
|
เมล็ดพักตัว6-8 สัปดาห์
|
เมล็ดพักตัว 3 เดือน - 10 ปี
|
เมล็ดพักตัว ไม่พักตัว - 10 ปี
|
2. ข้าววัชพืชเกิดขึ้นได้อย่างไร
จากการศึกษาของหลายหน่วยงานพบว่า ข้าววัชพืชเกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวป่าธรรมชาติ
(O. rufipogon L.) กับข้าวปลูก และมีการกระจายตัวของลูกหลานออกเป็นหลายลักษณะ โดยอัตราการผสมข้ามระหว่างข้าวปลูกกับข้าวป่า และระหว่างข้าวปลูกกับข้าววัชพืช ลูกผสมที่กระจายตัวและเจริญแพร่พันธุ์ในแปลงปลูกมีลักษณะส่วนใหญ่ไม่เป็นที่ต้องการของชาวนา
3. การจำแนกข้าววัชพืช
สามารถจำแนกตามลักษณะภายนอกของข้าววัชพืชได้เป็น 3 ลักษณะ ดังนี้
ข้าวหางหรือข้าวนก
คือข้าววัชพืชที่มีลักษณะเมล็ดข้าวเปลือกสีดำหรือสึน้ำตาลเข้ม มีหางยาว หางอาจจะมีสีแดงหรือขาวในระยะข้าวยังสด เมล็ดร่วงก่อนเก็บเกี่ยว สีของเยื่อหุ้มเมล็ดมีทั้งแดงไปจนถึงขาว
ข้าวแดงหรือข้าวลาย
คือข้าววัชพืชที่มีลักษณะสีข้าวเปลือกมักมีสีเข้มไปจนถึงลายสีน้ำตาลแดง เมล็ดข้าวเปลือกส่วนใหญ่ไม่มีหาง เมล็ดมีทั้งร่วงและไม่ร่วงก่อนเก็บเกี่ยว แต่สีของเยื่อหุ้มเมล็ดส่วนใหญ่มีสีแดง
ข้าวดีดหรือข้าวเด้ง
คือข้าววัชพืชที่มีลักษณะร่วงง่ายและร่วงเร็วโดยทยอยร่วงตั้งแต่หลังบานดอก 9 วันเป็นต้นไป เมล็ดข้าวเปลือกส่วนใหญ่มีหางสั้นหรือไม่มีหาง ข้าวเปลือกส่วนใหญ่มีสีเหลืองฟาง สีของเยื่อหุ้มเมล็ดมีทั้งแดงและขาว
4. สาเหตุการแพร่ระบาดของข้าววัชพืช
การแพร่ระบาดของข้าววัชพืช มาจากสาเหตุ 5 ประการ คือ
4.1 ติดมากับเมล็ดพันธุ์ข้าวเนื่องจากเกษตรกรใช้พันธุ์ข้าวจากแหล่งไม่มีคุณภาพ ในรอบ 1 ปี ชาวนามีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณกว่า 1 ล้านตัน แต่หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี ได้มาตรฐานได้ไม่เกิน 15 % ของความต้องการของชาวนาเท่านั้น อีก 85 % ชาวนาจำเป็นต้องเสี่ยงในการหาซื้อเมล็ดพันธุ์เองตามร้านค้าและแหล่งผลิตเอกชน ซึ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐานและมีเมล็ดข้าววัชพืชติดมาด้วย
4.2 ติดมากับอุปกรณ์ในการทำนา เครื่องมือเตรียมดิน, เก็บเกี่ยวหรือภาชนะบรรจุข้าว โดยเฉพาะรถเกี่ยวนวดข้าว เมื่อไปเกี่ยวข้าวในแปลงที่มีการระบาดของข้าววัชพืชรุนแรง เมล็ดข้าวที่ติดมากับรถเกี่ยวนวด มีจำนวนประมาณ 2-5 ถัง ซึ่งมีโอกาสที่เมล็ดข้าววัชพืชติดมาด้วย และมาร่วงหล่นในนาแปลงใหม่ที่รถเกี่ยวนวดข้าวลงทำงาน
4.3 ติดมากับปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ที่ผลิตจากวัสดุที่ได้มาจากนาข้าว เช่น ฟาง แกลบ ขี้เถ้าแกลบ หน้าดินผสมจากท้องนา ซึ่งเมล็ดข้าววัชพืชมีคุณสมบัติอยู่ได้นานในสภาพต่าง ๆ
4.4 การแพร่ไปกับน้ำ ในระบบชลประทาน (ข้าวหาง ข้าวครึ่งเมล็ด) ลอยไปกับน้ำลงสู่แปลงนาได้
4.5 ติดไปกับอาหารเสริมของเป็ดที่ปล่อยในนาข้าว ส่วนใหญ่เป็นข้าวเปลือกที่มีราคาถูก มีสิ่งเจือปน
5. ลักษณะของข้าววัชพืชที่ทำให้เป็นปัญหาร้ายแรง
ดังได้กล่าวมาแล้วว่าข้าววัชพืชมีลักษณะต่างๆที่คล้ายหรือแตกต่างกับข้าวปลูกอย่างไรบ้าง แต่ลักษณะสำคัญที่ทำให้ข้าววัชพืชเป็นวัชพืชร้ายแรง ดังนี้
5.1 ข้าววัชพืชมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว มีความสามารถในการแข่งขันได้ดีกว่าข้าวปลูก ข้าววัชพืชอาจมีความสูงมากกว่าข้าว จึงมีความสามารถในการแก่งแย่งธาตุอาหารและแสงแดดมากกว่าข้าว ข้าววัชพืชที่ต้นสูงจะล้มทับข้าวในระยะออกรวงทำให้ต้นข้าวปลูกเสียหาย
5.2 ข้าววัชพืชบางชนิดออกดอกเร็วกว่าข้าวปลูกและเมล็ดส่วนใหญ่ร่วงก่อน จึงไม่ถูกเก็บเกี่ยวไปพร้อมกับข้าวปลูก ทำให้มีเมล็ดสะสมอยู่ในแปลงนา ซึ่งจะเพิ่มความหนาแน่นมากขึ้นในฤดูต่อไป
5.3 เมล็ดข้าววัชพืชที่ร่วงสะสมอยู่ในนามีระยะพักตัวหลากหลาย จึงไม่ได้งอกพร้อมกันทั้งหมด ทำให้ยากต่อการกำจัด
5.4 เมล็ดส่วนใหญ่ร่วงก่อนเก็บเกี่ยว จึงไม่ถูกเก็บเกี่ยวไปพร้อมกับข้าวปลูก ทำให้ผลผลิตข้าวลดลงได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์
5.5 เมล็ดข้าววัชพืชที่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงปะปนไปกับผลผลิตข้าว ทำให้ถูกตัดราคา
6. การป้องกันปัญหาข้าววัชพืช
แม้ว่าข้าววัชพืชจะเกิดจากการผสมข้ามระหว่างข้าวปลูกกับข้าวป่าก็ตาม แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นได้โดยง่าย ดังนั้นการป้องกันเมล็ดข้าววัชพืชจากแหล่งที่มีการระบาดแล้วไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาในแปลงนาที่ยังไม่มีการปลอมปน และเพื่อไม่ให้เผชิญกับปัญหาข้าววัชพืช ดังนั้นชาวนาสามารถทำการป้องกันปัญหาข้าววัชพืชได้โดย
6.1 การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์มาตรฐานไม่มีข้าววัชพืชปลอมปน
6.2 ทำความสะอาดเครื่องจักรกลเกษตรก่อนการทำงานในแปลงทุกครั้ง
6.3 การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ที่ไม่นำวัสดุจากนาข้าวมาผลิต หรือต้องมั่นใจว่าไม่มีข้าววัชพืชปนมา
6.4 น้ำชลประทานที่ผ่านท้องที่ที่มีการระบาดของข้าววัชพืช อาจมีเมล็ดข้าววัชพืชลอยมากับน้ำได้ การใช้ตาข่ายกั้นทางน้ำก็จะป้องกันข้าววัชพืชได้
7. การกำจัดข้าววัชพืชโดยวิธีเขตกรรม
การผสมผสานหลายวิธีการในทุกขั้นตอนของการทำนาดังต่อไปนี้ จะช่วยแก้ปัญหาข้าววัชพืชได้ไม่ต้องพึ่งพาสารกำจัดวัชพืชหรือสารเคมีใดๆ
7.1 การกำจัดเมล็ดข้าววัชพืชโดยล่อให้งอกแล้วไถกลบ
การเตรียมดินโดยการไถ พรวน หรือคราดทำเทือก ควรเว้นช่วง 2-4 สัปดาห์ เพื่อเว้นระยะเวลาให้เมล็ดข้าววัชพืชที่ยังเหลืออยู่ในดินได้มีโอกาสพ้นระยะพักตัวมากขึ้น โดยการมีขั้นตอนดังนี้ ปล่อยให้แปลงแห้งก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 10 วัน หลังเก็บเกี่ยวข้าวแล้วปล่อยให้แห้งต่ออีก อย่างน้อย 1 สัปดาห์ แล้วเอาน้ำเข้าแปลงพอชื้น เพื่อให้เมล็ดข้าววัชพืชงอก ไถกลบ ปล่อยแปลงในสภาพชื้นต่ออีก 1-2 สัปดาห์ เพื่อให้เมล็ดข้าววัชพืชที่หลงเหลืออยู่งอกขึ้นมาอีก แล้วไถทิ้ง การล่อให้งอกแล้วไถกลบทำลายในแต่ละครั้งสามารถลดปริมาณข้าววัชพืชลงได้มากกว่า 50 %
7.2 เปลี่ยนวิธีการปลูกข้าว
7.2.1 วิธีปักดำ
การปักดำด้วยมือ ใช้เครื่องจักรตกกล้าปักดำ หลังปลูกให้ขังน้ำทันทีระดับน้ำลึก 3-5 ซม. จะป้องกันการงอกข้าววัชพืชได้ แต่ชาวนาต้องใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ และตกกล้าในแปลงนาที่ไม่มีข้าววัชพืชอยู่ก่อน อย่างไรก็ตามแม้จะใช้วิธีปักดำและการขังน้ำอย่างมีประสิทธิภาพก็อาจยังมีข้าววัชพืชงอกและเจริญเติบโตขึ้นมาได้ ทั้งนี้ข้าววัชพืชที่เจริญเติบโตขึ้นมาได้นี้จะอยู่นอกแถวหรือนอกกอของการปักดำ ชาวนาจึงพบเห็นข้าววัชพืชได้สะดวกตั้งแต่ในระยะแรก และสามารถถอนกำจัดเสียแต่ต้น
7.2.2 การปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า
ปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า เป็นการเพาะข้าวจำนวน 3-4 เมล็ดต่อหลุมลงในถาดพลาสติก มีหลุมขนาดเล็ก แต่ละหลุมบรรจุดินประมาณ 2.5 กรัม โดยใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์เพียง 3-4 กิโลกรัม เพาะลงในถาดจำนวน 50-60 ถาด นำไปโยนได้ 1 ไร่ อายุต้นกล้าที่เหมาะสม 12-16 วัน หลังโยนกล้า 1-2 วัน ให้ขังน้ำและเพิ่มระดับน้ำ 5-10 ซม. จะป้องกันการงอกของข้าววัชพืชได้ดี แต่เกษตรกรจะต้องเตรียมแปลงให้สม่ำเสมอ และข้อสำคัญอย่าให้นาขาดน้ำ
7.3 การตรวจตัดข้าววัชพืช
การตรวจตัดข้าววัชพืชเป็นการลดปัญหาไม่ให้ข้าววัชพืชผลิตเมล็ดสะสมในแปลงนาเพิ่มขึ้น ในระยะแตกกอเริ่มเห็นความแตกต่างค่อนข้างชัดเจน โดยจะสังเกตเห็นข้าววัชพืชส่วนใหญ่มีความสูงมากกว่า ลำต้นและใบมีสอ่อนกว่าข้าวปลูก ระยะนี้ต้องใช้วิธีถอนต้นข้าววัชพืชทิ้ง พอถึงระยะออกดอกจะเห็นความแตกต่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยข้าววัชพืชส่วนใหญ่จะออกดอกก่อนข้าวปลูก ระยะนี้ต้องใช้วิธีตัดชิดโคนต้นข้าววัชพืช แล้วนำไปทิ้งนอกแปลง เนื่องจากข้าววัชพืชงอกไม่พร้อมกันจึงแสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างข้าวปลูกกับข้าววัชพืชไม่พร้อมกัน ดังนั้นจึงควรมี
7.4 การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่ง
การเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งสามารถลดปริมาณเมล็ดข้าววัชพืชที่หลุดร่วงอยู่บนผิวดินได้ โดยเป็ด 200 ตัว/ไร่ ปล่อยไว้เป็นเวลา 2 วัน สามารถลดความหนาแน่นข้าววัชพืชได้ถึง 50 %
8. การกำจัดข้าววัชพืชโดยใช้สารกำจัดวัชพืช
การใช้สารกำจัดวัชพืชกำจัดข้าววัชพืชเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากข้าววัชพืชมีพันธุกรรมใกล้ชิดข้าวปลูกมาก และมีความหลากหลายทางชีวภาพ สารกำจัดวัชพืชที่สามารถกำจัดข้าววัชพืชได้ก็จะเป็นพิษต่อข้าวปลูกด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะหาสารกำจัดวัชพืชที่เลือกทำลายเฉพาะข้าววัชพืชโดยไม่ทำลายข้าวปลูก แต่อาศัยเทคนิคที่ทำให้สารกำจัดวัชพืชไปออกฤทธิ์กับข้าววัชพืชมากกว่าข้าวปลูก ก็จะสามารถใช้สารกำจัดวัชพืชกำจัดข้าววัชพืชโดยข้าวปลูกที่อาจโดนพิษของสารกำจัดวัชพืชน้อยกว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์ โดยสามารถใช้ได้ 3 ระยะดังนี้
8.1 การใช้สารกำจัดวัชพืชหลังเตรียมดินก่อนหว่านข้าว
หลังจากไถเตรียมดิน ทำเทือก และปรับระดับให้สม่ำเสมอ ให้ขังน้ำไว้ 3-5 เซนติเมตร พ่นหรือหยดสารกำจัดวัชพืชลงในน้ำ สารกำจัดวัชพืชจะทำลายต้นอ่อนของข้าววัชพืช ข้าวเรื้อ และวัชพืช ขังน้ำไว้ 3-5 วัน ระบายน้ำออกจากแปลงนาให้หมด แล้วหว่านข้าว สารกำจัดวัชพืชส่วนใหญ่ที่ละลายอยู่ในน้ำก็จะออกจากแปลงนาไปพร้อมกับน้ำที่ระบายออกไป ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมดินที่เรียบสม่ำเสมอซึ่งจะทำให้ขังน้ำและระบายน้ำออกอย่างสมบูรณ์ สารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในระยะนี้ได้แก่ ไดเมทธานามีด (dimethenamid), เพรททิลาคลอร์ (pretilachlor) , บิวทาคลอร์ (butachlor) และ ไธโอเบนคาร์บ (thiobencrab) สารกำจัดวัชพืชบางชนิดมีผลต่อวัชพืชตระกูลหญ้าเท่านั้น
8.2 การใช้สารกำจัดวัชพืชหลังหว่านข้าวแล้ว 8 -10 วัน
ระยะ 8-10 วันหลังหว่านข้าว จะสังเกตเห็นได้ว่าข้าวปลูกสูงกว่าข้าววัชพืช เพราะข้าวปลูกมีการแช่น้ำและหุ้มมาก่อน แล้วหว่านบนเทือก จึงมีอายุมากกว่า ในขณะที่ข้าววัชพืชเพิ่งเริ่มงอกหรืออยู่ในดินต้องใช้เวลางอกขึ้นมาเหนือดิน จึงมีต้นเตี้ยกว่า อาศัยความสูงที่ต่างกันนี้ ปล่อยน้ำเข้านาให้ท่วมยอดข้าววัชพืช แต่ไม่ให้ท่วมสะดือข้าวปลูกหรือคอกระจาย ใช้วิธีหว่านสารกำจัดวัชพืชลงในน้ำ ถ้าเป็นสารกำจัดวัชพืชชนิดน้ำต้องคลุกกับทรายก่อนหว่าน สารกำจัดวัชพืชที่คลุกทรายก็จะละลายน้ำและดูดซึมเข้ายอดข้าววัชพืชที่อยู่ปริ่มน้ำ แต่ดูดซึมเข้าข้าวปลูกน้อยกว่าเพราะสูงพ้นน้ำแล้ว ดังนั้นจะใช้วิธีฉีดพ่นไม่ได้เพราะจะเป็นอันตรายกับข้าวปลูกมากกว่าข้าววัชพืช และจะต้องมีการเตรียมดินเรียบสม่ำเสมอเช่นกัน สารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในระยะนี้ได้แก่ อ๊อกซาไดอาร์กิล (oxadiargyl), เพนดิเมทาลิน (pendimethalin) และ ไธโอเบนคาร์บ+2,4-ดี (thiobencrab + 2,4-D) สารกำจัดวัชพืชบางชนิดมีผลต่อวัชพืชตระกูลหญ้าเท่านั้น
8.3 การใช้สารกำจัดวัชพืชลูบรวงข้าววัชพืชในระยะออกรวง
ในระยะข้าววัชพืชออกรวง(ตากเกสร) ใช้สารกำจัดวัชพืชลูบรวงข้าววัชพืชที่มีความสูงกว่าข้าวปลูก เพื่อให้เมล็ดลีบไม่ให้สะสมเมล็ดในฤดูต่อไป โดยใช้ผ้าที่อุ้มน้ำได้ดีพันรอบไม้ไผ่ยาวประมาณ 2 เมตรมัดให้แน่น ราดด้วยสารกำจัดวัชพืชที่เตรียมไว้พอชุ่มไม่ให้มากจนหยดจะทำให้ข้าวปลูกที่อยู่ด้านล่างเสียหาย สารกำจัดวัชพืชที่ใช้ในระยะนี้ได้แก่ กลูโฟซิเนท-แอมโมเนียม (glufosinate – ammonium), ควิซาโลฟอป-พี-เอธทิล (quizalofop-P-ethyl) และเอ็มเอสเอ็มเอ (MSMA), อย่างไรก็ตามการใช้สารกำจัดวัชพืชลูบรวงข้าววัชพืชนี้จะมีผลเฉพาะข้าววัชพืชที่ต้นสูงและออกดอกก่อนข้าวปลูกเท่านั้น
9. การกำจัดข้าววัชพืชต้องทำแบบผสมผสานและต่อเนื่อง
จากวิธีการป้องกันปัญหาข้าววัชพืช การกำจัดข้าววัชพืชโดยวิธีเขตกรรม และการกำจัดข้าววัชพืชโดยใช้สารกำจัดวัชพืช ชาวนาจะต้องใช้หลายวิธีการผสมผสานช่วยกันจึงจะทำให้การป้องกันกำจัดได้ผล โดยสามารถสรุปเป็นภาพ และแผนภูมิการจัดการข้าววัชพืชแบบผสมผสานดังแสดงไว้ข้างล่างนี้ อย่างไรก็ตามเนื่องจากเมล็ดข้าววัชพืชมีการพักตัวหลากหลาย ตั้งแต่ไม่พักตัวเลยไปจนถึงพักตัวนานหลายปี จึงมีการทยอยงอก หากมีการระบาดของข้าววัชพืชเพียงฤดูเดียว แล้วทำการป้องกันกำจัดอย่างถูกต้อง ข้าววัชพืชก็จะไม่เป็นปัญหาในช่วงนั้น แต่ชาวนาไม่ควรวางเฉย เพราะข้าววัชพืชที่เหลือเล็ดลอดไปได้ในฤดูถัดไปเพียงต้นเดียวก็อาจผลิตเมล็ดได้มากกว่า 1,500 เมล็ด นั้นหมายความว่าในไม่ช้าข้าววัชพืชก็จะสามารถเพิ่มปริมาณและสร้างปัญหาได้ในอนาคตอันใกล้
แม้การป้องกันกำจัดจะได้ผลดีเพียงใด ชาวนายังจะต้องหมั่นตรวจแปลงนาทุกระยะการเจริญเติบโตของข้าว เพื่อทำการป้องกันกำจัดตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมาแล้ว และมีตัวอย่างมากมายจากแปลงนาที่ทำการกำจัดข้าววัชพืชอย่างได้ผล แต่ชาวนากลับละเลยการตรวจตราแปลงนาอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องจากความไม่เข้าใจถึงปัญหาข้าววัชพืชนี้อย่างลึกซึ้ง แล้วข้าววัชพืชก็ได้กลับมาเป็นปัญหาระบาดในนาอีก
10. การบูรณาการเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดข้าววัชพืชกับGAP
การผลิตแบบเกษตรดีที่เหมาะสม (Good agricultural practice:GAP) จะมีข้าวเรื้อ ข้าวปน หรือข้าววัชพืชไม่ได้ เป้าหมายเพื่อข้าวที่ผลิตได้จะต้องนำไปใช้ทำพันธุ์ต่อเนื่องได้ ดังนั้นเราสามารถจะนำเทคโนโลยีนี้เข้าผสมผสานกับกระบวนการผลิตข้าวแบบเกษตรดีที่เหมาะสม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการผลิตข้าวแบบ GAP ตั้งแต่ก่อนการผลิต ในระหว่างการผลิตและหลังกระบวนการผลิต โดยใช้แผนภูมิดังต่อไปนี้
11. ข้อเท็จจริงบางประการที่ควรพิจารณาในการแก้ปัญหาข้าววัชพืช
11.1 การใช้พันธุ์ข้าวอายุสั้นเพื่อตัดวงจรข้าววัชพืช
พันธุ์ข้าวอายุสั้นจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาข้าววัชพืชในการทำนาฤดูต่อไป โดยข้าวปลูกอายุสั้นที่นิยมปลูกในขณะนี้มีอายุตั้งแต่ 75-90 วัน ซึ่งเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวปลูกนี้แล้วข้าววัชพืชที่มีอายุมากกว่านี้และยังไม่ออกหรือเริ่มออกรวงก็จะถูกทำลาย โดยลำต้นและใบจะถูกตัดรวมไปกับรวงข้าวปลูกอายุสั้นเหล่านี้ด้วย จึงเป็นการทำลายข้าววัชพืชที่มีอายุมากกว่าข้าวปลูกอายุสั้นเหล่านี้ อย่างไรก็ตามข้าววัชพืชบางส่วนที่มีอายุสั้นกว่าหรือเท่ากับข้าวปลูกเหล่านี้ก็จะยังคงมีต่อไปได้อีก
11.2 การขังน้ำ
การทำนาหว่านน้ำตมตามปกติหลังทำเทือกแล้วหว่านข้าวงอก แต่หากหลังการทำเทือกปล่อยน้ำออก ทิ้งไว้ 2 วัน แล้วเอาน้ำขุ่นเข้าขังในแปลงประมาณ 1 สัปดาห์ เอาน้ำออกแล้วหว่านข้าวงอก มีผลให้ปริมาณข้าววัชพืชลดลงได้ประมาณ 15 %
อย่างไรก็ตามการขังน้ำทิ้งไว้ในนา 1 เดือน มีผลให้เมล็ดข้าววัชพืชสะสมในดินลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ และหากขังน้ำนานถึง 18 เดือน ลดปริมาณเมล็ดข้าววัชพืชในดินได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่าแม้จะขังน้ำนานกว่า 1 ปี ก็ยังไม่ทำให้เมล็ดข้าววัชพืชหมดไปได้ แต่หากมีการขังน้ำเป็นระยะเวลานานเท่าใดก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มทำนาครั้งต่อไปควรล่อให้ข้าววัชพืชงอกก่อนสักครั้งจึงเริ่มทำนาครั้งต่อไป เพราะช่วงเวลาที่ทิ้งนาไว้ในสภาพน้ำขังเมล็ดข้าววัชพืชจะทยอยพ้นระยะพักตัว หากทำเทือกและหว่านข้าวทันทีเมล็ดข้าววัชพืชจำนวนมากก็จะงอกมาพร้อมกับข้าวปลูก
11.3 ลดจำนวนครั้งของการทำนาในรอบปี
หากชาวนาลดความถี่ของการทำนาลงให้เหลือเพียงแค่ปีละ
2 ครั้ง จะเป็นการสนับสนุนให้มีการพักดินนาได้นานขึ้นจะช่วยกำจัดเมล็ดข้าววัชพืชที่สะสมในดิน มีโอกาสให้มีการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งเป็นเวลานานขึ้น