แมลงศัตรูข้าว และการป้องกันกำจัด

มวนง่าม (Stink bug)



 
 
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tetroda denticulifera (Berg)
วงศ์ : Pentatomidae
อันดับ : Hemiptera
ชื่อสามัญอื่น : มวนสามง่าม, แมงแครง
 
 
 

มวนง่าม Tetroda denticulifera (Berg) มีวงจรชีวิตมี 3 ระยะ คือ ระยะไข่ ระยะตัวอ่อน และระยะตัวเต็มวัย ระยะไข่เฉลี่ย 6-8 วัน ระยะก่อนวางไข่เฉลี่ย 35-43 วัน วางไข่เฉลี่ย 8-11 ครั้ง เพศเมียวางไข่เป็นแถวตามแนวใบข้าวเฉลี่ย 150-200 ฟอง ต่อตัว ฟักเป็นตัวอ่อนเฉลี่ย 89-94% ระยะตัวอ่อนนาน 60-66 วัน ตัวอ่อนมี 5 ระยะ ระยะตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียนาน 90-120 วัน และ 70-125 วัน

ระยะไข่และตัวอ่อนวัยแรก
ตัวอ่อนวัยที่ 2-3
ตัวเต็มวัยมวนง่าม

 

ลักษณะรูปร่าง มวนง่ามมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบง่าย ตัวอ่อนวัยแรกมีลักษณะลำตัวกลมป้อม ส่วนบนนูนโค้งคล้ายด้วงเต่า มีลวดลายเป็นจุดสีดำ 4 จุด ลำตัวสีเหลืองอ่อน หนวด ตา และขาสีดำเมื่อเข้าสู่วัยที่ 2, 3, 4 และ 5 รูปร่างจะเปลี่ยนเป็นแบนราบ ขอบรอบลำตัวมีลักษณะปลายแหลมหยักซิกแซก และมีหนามแหลมเป็นง่ามยื่นออกมาที่ส่วนหัว และอกปล้องแรก สีของลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีครีม ขนาดของลำตัวจะพัฒนาขึ้นตามจำนวนการลอกคราบ และเมื่อลอกคราบครั้งสุดท้ายเป็นตัวเต็มวัย เพศผู้มีลักษณะลำตัวแบนสีเทาดำ ศีรษะยื่นออกไปเป็นง่ามปลายแหลม 2 ง่าม อกปล้องแรกมีง่ามแหลมยื่นออกไปทางด้านหน้าทั้งสองข้าง ขา หนวดและตาสีดำ แผ่นปิดด้านบนส่วนอก (Scutellum) สีเทาดำ ปีกเป็นสีเดียวกับลำตัว ปลายปีกสีขาว ขอบด้านข้างลำตัวส่วนท้องเป็นสีส้ม ลำตัวยาวประมาณ 1.6 เซนติเมตร กว้าง 0.7 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยเพศเมียมีรูปร่างเหมือนเพศผู้ แต่มีขนาดใหญ่กว่ายาวประมาณ 2 เซนติเมตร กว้าง 0.9 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยเพศเมียใหม่ๆ ลำตัว และ Scutellum เป็นสีเหลือง หลังจากนั้นประมาณ 5-10 วัน สีของลำตัวจะเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลปนเทา ปีกสีเดียวกับลำตัว ตัวเต็มวัยมีต่อมกลิ่น (Scent gland) ทำให้แมลงมีกลิ่นเหม็น

พฤติกรรมของมวนง่ามเคลื่อนที่ช้าและชอบเกาะนิ่งอยู่ตามส่วนต่างๆของต้นข้าวทำลายข้าวโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากลำต้นและใบ
ทำให้ต้นข้าวแสดงอาการเหลืองเหี่ยวเฉาและแห้งตาย ตัวเต็มวัยของมวนง่ามมีขนาดใหญ่ เมื่อมีแมลงจำนวนมากเกาะตามลำต้นและใบข้าว ทำให้ใบและลำต้นหักพับ เกิดความเสียหายมากในระยะกล้าและหลังปักดำใหม่

ความสำคัญและลักษณะการทำลาย

มวนง่ามมีปากแบบเจาะดูด มี Stylet พับอยู่ใต้ส่วนหัว มวนง่ามทุกวัยสามารถทำลายข้าวโดยใช้ Stylet เจาะลงไปในใบและลำต้นข้าวแล้วดูดกินน้ำเลี้ยง
จากส่วนต่างๆ ของต้นข้าว ทำให้ลำต้นและใบเหี่ยวเฉา นอกจากนี้ตัวเต็มวัยซึ่งมีขนาดใหญ่ เมื่อไปเกาะตามลำต้นและใบ เป็นจำนวนมาก สามารถทำให้ลำต้น และใบในระยะกล้าและหลังปักดำใหม่หักพับเสียหายมาก

มวนง่ามทำลายข้าวโดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นและใบ ทำให้ต้นข้าวแห้งตาย พบการระบาดทำลายในฤดูนาปรังรุนแรงกว่าในฤดูนาปี และความเสียหายจะพบมากในระยะกล้าและหลังปักดำใหม่

พืชอาหาร

ข้าว หญ้าข้าวนก หญ้าไซ ข้าวป่า

การป้องกันกำจัด

1). เก็บกลุ่มไข่ทำลาย
2). ใช้สวิงโฉบจับตัวอ่อนและตัวเต็มวัยไปทำลาย