ดินเปรี้ยว |
||||||||||||||||||||||||||||||||
ดินเปรี้ยวจัด หรือ ดินกรดจัด ในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 9 ล้านไร่ โดย 5 ล้านไร่ หรือ กว่าครึ่งหนึ่งของดินเปรี้ยวทั้งหมด อยู่บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกกันว่า ที่ราบลุ่มกรุงเทพฯ โดยมีพื้นที่ราวร้อยละ 35 ของพื้นที่ราบลุ่มนี้ ที่เหลือพบกระจัดกระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณลุ่มน้ำจันทบุรี ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกและตะวันออกของภาคใต้ เช่น ที่ สงขลา นราธิวาส และ ปัตตานี ดินบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ 1. พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเก่า (Old delta) ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี อ่างทอง และ พระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ประมาณ 3.6 ล้านไร่ เกิดจากการทับถมของตะกอนที่พัดพาโดยแม่น้ำเจ้าพระยา และ แม่น้ำสุพรรณบุรี สูงจากระดับน้ำทะเล 15 เมตรโดยประมาณที่จังหวัดชัยนาท แล้วลาดเทลงมาทางใต้ จนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 5 เมตร เป็นดินนาชั้นดี และไม่เป็นกรด 2. พื้นที่ราบลุ่มใหม่ (New delta) ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่อยลงมาถึงชายทะเลอ่าวไทย มีพื้นที่ประมาณ 8.3 ล้านไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ที่เกิดจากตะกอนน้ำทะเล (Deltaic high) มีแร่ไพไรท์ไม่เกิน 0.8 % จึงไม่เป็นดินกรดจัด เป็นที่ตั้งของกรุงเทพฯ ห่างไปทางทิศตะวันตกและตะวันออก ขนานกับแนวชายฝั่งอ่าวไทยซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 3-5 เมตร และพื้นที่ราบลุ่มโดยรอบ (Delta flat) ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 1-2 เมตร เกิดจากตะกอนน้ำกร่อย มีแร่ไพไรท์ค่อนข้างสูง เมื่อมีการยกระดับให้สูงขึ้น มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี ดินจะมีคุณสมบัติเป็นดินกรดจัด 3. พื้นที่เนินตะกอนรูปพัด (Fan terrace complex) เป็นพื้นที่โดยรอบของที่ราบลุ่มกรุงเทพฯ ทั้งด้านทิศเหนือ ทิศตะวันตก และทิศตะวันออก ประมาณ 2 ล้านไร่ ดินเปรี้ยวจัด (Acid sulfate soil) มีพื้นที่ประมาณ 5 แสนไร่ หรือ ร้อยละ 11 ของพื้นที่ ดินมีความเป็นกรดรุนแรง ค่า pHต่ำกว่า 4.0 ผลผลิตข้าวอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ประมาณ 100-300 กิโลกรัมต่อไร่ พบได้ที่จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ดินเปรี้ยวจัดในประเทศไทย รวมทั้งในภาคกลาง แบ่งออกได้ 3 ชั้นความเหมาะสม สำหรับการปลูกข้าว ดังนี้ 1. ดินกรดจัดน้อย (ชั้น P-IIa) เหมาะสมในการทำนา ความเป็นกรดของดินเป็นอุปสรรคบ้างเล็กน้อย เป็นดินเหนียว หน้าดินลึก การระบายน้ำเลว ดินบนมีค่า pHต่ำกว่า 5.5 ความอุดมสมบูรณ์ปานกลาง ข้าวมีการตอบสนองต่อปุ๋ยน้อย ได้ผลผลิตประมาณ 250-350 กิโลกรัมต่อไร่ ดินชั้นนี้มีพื้นที่ประมาณ 3,500,000 ไร่ มี ประมาณ 3 แสนไร่ หรือ ร้อยละ 60 อยู่ในภาคกลาง ได้แก่ ดินชุดอยุธยา มหาโพธิ์ อยุธยา/มหาโพธิ์ เสนา บางน้ำเปรี้ยว ฉะเชิงเทรา และ ท่าขวาง โดยดินชุดเสนา เป็นดินชุดที่มีพื้นที่มากที่สุด ประมาณ ร้อยละ 50 ของชั้น และ ร้อยละ 20 อยู่ในภาคกลาง 2. ดินกรดจัดปานกลาง (ชั้น P-IIIa) เหมาะสมในการทำนาปานกลาง ความเป็นกรดของดินเป็นอุปสรรคในการปลูกข้าว ต้องการการจัดการ เช่น การใส่ปูน เป็นดินเหนียว หน้าดินลึก การระบายน้ำเลว มีความเป็นกรดสูง ดินบนมีค่า pHต่ำกว่า 4.5 ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การปลูกข้าวได้ผลผลิตต่ำ ประมาณ 150-250 กิโลกรัมต่อไร่ ดินชั้นนี้มีพื้นที่ประมาณ 1,500,000 ไร่ ได้แก่ ดินชุดรังสิต รังสิต (ที่สูง) รังสิต/เสนา และ ธัญบุรี โดยดินชุดรังสิต เป็นดินชุดที่มีพื้นที่มากที่สุด ประมาณ ร้อยละ 80 ของชั้น และ ร้อยละ 20 อยู่ในภาคกลาง 3. ดินกรดจัด (ชั้น P-IVa) ไม่เหมาะสมในการทำนา เนื่องจากข้อจำกัดเรื่องความเป็นกรดของดินที่มีความรุนแรงมาก ต้องการการจัดการเป็นพิเศษ ดินบนมีค่า pHต่ำกว่า 4.0 ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ การปลูกข้าวได้ผลผลิตต่ำมาก ดินชั้นนี้มีพื้นที่ประมาณ 500,000 ไร่ ได้แก่ ดินชุดรังสิตกรดจัด ดินชุดองครักษ์ และ ดินชุดชะอำ โดยดินชุดรังสิตกรดจัด เป็นดินชุดที่มีพื้นที่มากที่สุด ประมาณ ร้อยละ 70 ของชั้น หรือ ร้อยละ 10 อยู่ในภาคกลาง การปรับปรุงดินกรดจัด ทำได้หลายวิธี ได้แก่ 1. การชะล้าง การปรับปรุงดินกรด อาจมีความแตกต่างกัน และอาจต้องใช้หลายวิธีผสมผสานกัน เพื่อความเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เช่น การแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดชุดมูโนะ ทดลองใช้ ทฤษฎีแกล้งดิน ให้ดินเปรี้ยวที่สุด โดยการทำให้ดินเปียกสลับแห้ง กระตุ้นให้ดินปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมาให้มากที่สุด แล้วจึงทำการปรับปรุงดินโดยการใช้น้ำชะล้าง ด้วยการขังน้ำแล้วระบายน้ำออก จะช่วยลดความเป็นกรดและสารพิษได้ และเมื่อมีการใช้วัสดุปรับปรุงดินควบคู่กับการล้างดิน จะช่วยให้พืชเจริญเติบโตและให้ผลผลิตได้ดียิ่งขึ้น การใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับการปรับปรุงดิน วัสดุปรับปรุงดินทางการเกษตรที่นิยมใช้เพื่อปรับปรุงหรือแก้ไขความเป็นกรดของดิน มีหลายชนิด เช่น หินฟอสเฟตหรือหินฝุ่น ปูนขาว ปูนมาร์ล และ ปูนโดโลไมท์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวัสดุที่ได้จากผลิตผลธรรมชาติอีกหลายชนิด ที่สามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงดินได้ เช่น เปลือกหอย ตะกรัน ขี้เถ้า และ ยิบซัม เป็นต้น อัตราที่เหมาะสมของวัสดุที่ใช้ขึ้นกับชนิดของวัสดุนั้นๆ ซึ่งมีคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมีแตกต่างกันไป การจะเลือกใช้ชนิดใด สามารถพิจารณาได้จากค่า ซีซีอี (CCE; Calcium Carbonate Equivalent) ซึ่งหมายถึงร้อยละของสมมูลย์แคลเซียมคาร์บอเนตที่สามารถปรับสภาพได้ ของวัสดุนั้นๆ กล่าวคือ ถ้าวัสดุนั้นมีค่า CCE ประมาณ 100% นับว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการช่วยปรับปรุงดินได้
นอกจากการพิจารณาชนิดของสารแล้ว ความรุนแรงของความเป็นกรด ซึ่งผันแปรตามชนิดของดิน รวมทั้งความลึกของดิน ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย ตัวอย่างเช่น การยกระดับความเป็นกรด-ด่าง (pH)ของดินบนให้เป็น 5.5 โดยใช้ปูนมาร์ล ในดินชุดธัญบุรี ต้องการปูนมาร์ล 1.5 ตันต่อไร่ ดินชุดรังสิต ต้องการปูนมาร์ล 3.7 ตันต่อไร่ แต่ถ้าเป็นดินชุดรังสิตกรดจัด ต้องใส่ปูนมาร์ล 4.6 ตันต่อไร่ หรือ ดินชุดองครักษ์ ต้องการใช้ปูนมาร์ลถึง 5.2 ตันต่อไร่ เป็นต้น
|