พันธุ์ข้าว

พิษณุโลก 80 (Phitsanulok 80)

ชื่อพันธุ์ -

พิษณุโลก 80 (Phitsanulok 80)

ชนิด - ข้าวเจ้า
คู่ผสม - สุพรรณบุรี 90/IR56//กข27
ประวัติพันธุ์ - ได้จากการผสมสามทาง ระหว่างพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 90 และ IR56  กับ กข27  เมื่อ
พ.ศ. 2534 และ  พ.ศ. 2535  ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก  ปลูกลูกผสมชั่วที่ 1  พ.ศ. 2536  ปลูกคัดเลือกพันธุ์ผสมชั่วที่ 2 แบบรวม(bulk)  และชั่วที่ 3 – 5 แบบสืบตระกูล (pedigree) ใน พ.ศ. 2537 – 2540 จนได้สายพันธุ์ PSL92147-1-2-4-1  ปลูกศึกษาพันธุ์ใน พ.ศ. 2541 และปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ใน พ.ศ. 2542 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก  นำเข้าปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี ระหว่าง พ.ศ. 2543-2548 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก ชัยนาท และลพบุรี ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ ระหว่าง พ.ศ. 2544 - 2546 ที่จังหวัดพิษณุโลก พิจิตร ลพบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบูรณ์ และสิงห์บุรี ทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจน ระหว่าง พ.ศ. 2545-2546 ที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก  ชัยนาท และลพบุรี ทดสอบเสถียรภาพในการให้ผลผลิตร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี คลองหลวง ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี และราชบุรี  ใน พ.ศ. 2545, 2547 และ 2548
การรับรองพันธุ์ - คณะกรรมการบริหารกรมวิชาการเกษตร มีมติให้เป็นพันธุ์รับรอง ชื่อ พิษณุโลก 80 เมื่อวันที่ 23  เมษายน 2550

 


 

ลักษณะประจำพันธุ์ - เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง
  - อายุเก็บเกี่ยวต้นเดือนธันวาคม
  - ทรงกอตั้ง ต้นแข็งไม่ล้มง่าย ใบสีเขียว ใบธงตั้งตรง คอรวงยาว  รวงแน่นปานกลาง
  - เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง ขนสั้น
  - ระยะพักตัวของเมล็ดพันธุ์ประมาณ 7 สัปดาห์
  - เมล็ดข้าวเปลือก ยาว x กว้าง  x หนา = 10.1 x 2.5 x 2.0 มิลลิเมตร
  - เมล็ดข้าวกล้อง ยาว x กว้าง  x หนา = 7.4 x  2.2 x 1.7 มิลลิเมตร 
  - ปริมาณอมิโลสต่ำ (17.3%)
ผลผลิต - เฉลี่ย 637 กิโลกรัม/ไร่
ลักษณะเด่น - ให้ผลผลิตสูง เสถียรภาพในการให้ผลผลิตดีในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
  - ทรงต้นตั้งตรง ต้นแข็ง ไม่ล้มง่าย
  - คุณภาพเมล็ดดี เป็นท้องไข่น้อย 
ข้อควรระวัง - ไม่ต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคไหม้ในจังหวัดพิษณุโลก และค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้ง   
พื้นที่แนะนำ -

พื้นที่ลุ่มในเขตนาน้ำฝนภาคเหนือตอนล่าง