การขาดซิลิกอน (Silicon deficiency) |
||||||||||||||||||||||||||||||||||
ซิลิกอน (Si) เป็นธาตุอาหารที่มีประโยชน์สำหรับข้าว แต่หน้าที่ของธาตุนี้ในพืชยังไม่ทราบแน่ชัด ซิลิกอน จำเป็นในการพัฒนาใบ รากและลำต้นที่แข็งแรง ซิลิกอนที่เป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ ช่วยให้พืชต้านทานโรค แมลงและปลวกดีขึ้น ข้าวที่ได้รับซิลิกอน พอเพียงจะมีใบและลำต้นตั้ง ทำให้การสังเคราะห์แสงดีขึ้น ข้าวที่ขาดซิลิกอนจะมีใบไม่กระด้างและโน้มลง (Droopy) ทำให้ประสิทธิภาพในการสังเคราะห์แสงลดลง ข้าวจะอ่อนแอต่อการทำลายโรคและแมลง การขาดที่รุนแรงจะเกิดจุดสีน้ำตาลบนใบข้าว จำนวนรวงต่อตารางเมตรและจำนวนเมล็ดดีต่อรวงลดลง ข้าวจะหักล้มมาก การขาดซิลิกอนมีสาเหตุจากการที่ดินมีปริมาณซิลิกอนไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต วัตถุต้นกำเนิดดินมีปริมาณซิลิกอนต่ำ รวมทั้งการขนฟางออกจากแปลงนาเป็นระยะเวลาหลายปีติดต่อกันก็ทำให้ดินขาดซิลิกอนได้เช่นกัน การขาดซิลิกอนมักพบในดินนาที่เสื่อมโทรมดินที่มีปริมาณซิลิกอนต่ำ และดินนาน้ำฝนที่มีการชะล้างสูง เช่นดินนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การจัดการเพื่อการป้องกันและแก้ไขการขาดซิลิกอนสามารถทำได้โดย การไถกลบฟางลงในแปลงนาเป็นประจำจะช่วยเพิ่มปริมาณซิลิกอนในดินเพราะในฟางข้าวมีปริมาณซิลิกอนค่อนข้างสูงคือร้อยละ 5–6 หลีกเลี่ยงการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราสูงเกินไปแม้ว่าการใส่ไนโตรเจนมากจะทำให้พืชดูดใช้ไนโตรเจนและซิลิกอนมากขึ้น แต่ความเข้มข้นของของซิลิกอนในพืชจะลดลง เนื่องจากพืชผลิตน้ำหนักแห้งมากกว่าเดิม ในกรณีที่พืชแสดงอาการขาดซิลิกอนให้ใส่ปุ๋ยที่มีซิลิกอนเป็นส่วนประกอบให้แก่ข้าว โดยใส่แคลเซียมซิลิเกตในอัตรา 20–30 กิโลกรัมต่อไร่ หรือโพแทสเซียมซิลิเกตในอัตรา 6–10 กิโลกรัมต่อไร่
|