การผลิตข้าวอินทรีย์

ข้อมูลจากจังหวัดอุบลราชธานี

1. พันธุ์ข้าวและเมล็ดพันธุ์

        ใช้พันธุ์ข้าวตามความต้องการของตลาดคือขาวดอกมะลิ 105 และ กข15

2. การเตรียมดินและวิธีปลูก

        ควรปลูกโดยวิธีปักดำเพื่อสะดวกในการกำจัดวัชพืช การเตรียมดินทำได้โดยใช้รถแทรกเตอร์หรือรถไถนาเดินตามไถดะเตรียมดินช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม จากนั้นตกกล้าในเดือนมิถุนายน- กรกฎาคม แล้วไถแปร-คราดน้ำขัง แล้วถอนกล้าข้าวมาปักดำในเดือนกรกฎาคม- สิงหาคม

3. การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน

        ในเบื้องต้นมีการไถกลบตอซังข้าวในนา นำฟางข้าวมาทำเป็นปุ๋ยหมักผสมกับปุ๋ยคอกแล้วนำกลับไปใส่ในนา ในนาปักดำควรปลูกพืชปุ๋ยสดร่วมด้วยโดยหว่านเมล็ดพืชปุ๋ยสดประมาณ 2 เดือนก่อนปักดำเพื่อให้พืชปุ๋ยสดเจริญเติบโตและสะสมน้ำหนักแห้งในปริมาณที่มากพอ ซึ่งชนิดพืชปุ๋ยสดที่มีศักยภาพสำหรับปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดก่อนนามีหลายชนิด เช่นถั่วเขียว ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า โสนอัฟริกัน ถั่วขอ เป็นต้น

4. การควบคุมน้ำและควบคุมวัชพืช

        การทำนาดำช่วยควบคุมวัชพืชได้เป็นอย่างดี รวมทั้งการดูแลคันนาเพื่อรักษาระดับน้ำขังในนาให้พอดีกับการเจริญเติบโตของข้าว ก็เป็นการควบคุมวัชพืชอย่างได้ผล

5. การป้องกันกำจัดศัตรูข้าว

        ศัตรูข้าวที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีคือโรคไหม้ที่จะรุนแรงในบางปี อย่างไรก็ตามเกษตรกรไม่ได้มีการป้องกันกำจัด

6. การจัดการก่อนและหลังเก็บเกี่ยว

        คุณภาพของข้าวได้รับผลกระทบจากขั้นตอนนี้มาก โดยเฉพาะจากการตกของฝนช่วงก่อน – หลังการเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม การจัดการแบบดั้งเดิมก็ใช้ได้ผลดี คือ ระบายน้ำออกนาให้แห้งพอดีในช่วงที่ข้าวสุกแก่ ใช้คนเก็บเกี่ยวแล้วตากสุ่มซัง 3-4 วัน หลังจากนั้นนำมารวมกองไว้รอคนนวดหรือใช้เครื่องนวด กองไว้ได้นานกว่า 30 วัน โดยข้าวยังคงมีคุณภาพดี การใช้เครื่องนวดข้าวจะต้องระวังกรณีที่เปลี่ยนจากข้าวเหนียวเป็นข้าวเจ้า เพราะจะเกิดการปนของข้าวที่ติดอยู่ในเครื่องนวด จึงต้องเป่าหรือล้างทำความสะอาดเครื่องนวดก่อน ข้าวเปลือกที่ได้จะมีความชื้นเฉลี่ย 13-15 % ตามมาตรฐาน นำไปเก็บรักษาในยุ้งฉางหรือใส่กระสอบป่านที่ทำความสะอาดและคัดชิ้นส่วนข้าวที่ติดมากับกระสอบเดิมแล้ว ทั้งนี้ จะต้องติดรหัสของนาข้าวหรือของเกษตรกรที่กระสอบข้าวด้วย

7. ระบบพืช/ระบบเกษตร

        มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องแต่ด้วยเงื่อนไขเป็นพื้นที่นาน้ำฝน ทำให้การปลูกพืชฤดูแล้งทำได้ยาก จึงมีเพียงการปลูกพืชปุ๋ยสดก่อนนา เช่น ถั่วเขียว ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า โสนอัฟริกัน ถั่วขอ เป็นต้น พื้นที่นาหลังการเก็บเกี่ยวข้าวส่วนใหญ่จะปล่อยสัตว์เลี้ยง คือ วัว ควาย เข้าไปกินหญ้าและฟางข้าวเป็นอาหาร

ข้อมูลจากจังหวัดสุรินทร์

1. พันธุ์ข้าว

        พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 กข15 และข้าวพื้นเมืองเช่นมะลิแดง ได้จากแปลงนาขยายพันธุ์ที่ผลิตแบบเกษตรอินทรีย์

 
ข้าวหอมมะลิเป็นพันธุ์ที่นิยมใช้ปลูกแบบอินทรีย์
ข้าวพื้นเมืองที่ผ่านการตรวจสอบรับรองแล้วและการแปรรูปเพื่อจำหน่าย

 

2. การเตรียมดิน

       ใช้รถแทรกเตอร์ไถกลบฟางเดือนธันวาคม หรือปล่อยไว้ให้วัวควายแทะเล็ม พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ และ มีนาคม เมื่อมีฝนพอให้ไถสะดวก จึงทำการปลูกพืชสดบำรุงดิน เช่น โสนอัฟริกัน ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม โดยหว่านอัตรา 5 -10กิโลกรัมต่อไร่ ขึ้นอยู่กับขนาดเมล็ด เมื่อพืชเจริญเติบโตและสามารถให้ผลผลิต ให้ทำการเก็บผลผลิตไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไป หรือหากไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก็ให้ไถกลบเมื่อพืชสดอยู่ในระยะออกดอก ราวเดือนพฤษภาคม การไถกลบพืชสดอาจถือเป็นการไถดะ

3. วิธีปลูก

        
-การปลูกแบบหว่าน ไถเตรียมดิน ปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอแล้วหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวอัตรา 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ เสร็จแล้วจึงคราดกลบ
        - การปลูกแบบปักดำ ไถแปรและคราดทำเทือก และปักดำระยะระหว่างแถว 20 เซนติเมตรและระยะระหว่างต้น 20 เซนติเมตร

4. การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน

        ดินนาในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนมากเป็นดินร่วนปนทราย ความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีอินทรียวัตถุในดินต่ำกว่าร้อยละ 1 มีปริมาณฟอสฟอรัสต่ำกว่า 10 มิลลิกรัมต่อดิน 1 กิโลกรัม มีปริมาณโพแทสเซียมต่ำกว่า 30 มิลลิกรัมต่อดิน 1 กิโลกรัม ดินมีความเป็นกรดจัด (pH 4.5 – 5.4) ดังนั้นการปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตสูงขึ้นจึงต้องมีการจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน

       4.1 การไถกลบฟาง เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ การไถกลบฟางเพื่อเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุและป้องกันการเผาฟางในนา ปัจจุบัน (ปี 2549) น้ำมันแพงมาก (29 บาท/ลิตร) การไถกลบฟางอาจละเว้นได้แต่ห้ามเผาฟางและมีข้อดี คือ เป็นอาหารของวัว ควายที่นำออกไปเลี้ยงในทุ่งและประหยัดน้ำมัน

       4.2 การปลูกพืชบำรุงดิน พืชที่ปลูกบำรุงดินมักจะปลูกหลังจากเสร็จจากการเก็บเกี่ยว จนถึงเก็บข้าวขึ้นยุ้งฉางเสร็จแล้ว จึงทำการไถเพื่อปลูกพืชบำรุงดิน การปลูกในช่วงนี้อาศัยความชื้นที่เหลืออยู่ในดิน การเจริญเติบโตของพืชบำรุงดินไม่ค่อยดีเนื่องจากไม่มีฝน แห้งแล้ง การปลูกพืชบำรุงดินในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม หากปลูกในระยะนี้พืชสดบำรุงดินบางชนิดให้ผลผลิตสามารถเก็บเมล็ดไว้ปลูกฤดูต่อไป ถ้าปลูกเดือนเมษายน – พฤษภาคม พืชสดบำรุงดินเจริญเติบโตประมาณ 40-50 วัน จึงไถกลบเป็นปุ๋ยบำรุงดิน พืชบำรุงดินที่เจริญเติบโตในสภาพนาและให้ปริมาณมวลชีวภาพ เรียงจากมากไปหาน้อย คือโสนอัฟริกัน ถั่วพร้า ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วเขียว น้ำหนักสดของพืชควรได้มากกว่า 1 ตัน จึงจะทำให้ต้นข้าวที่ปลูกตามงาม

       4.3 การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ
                      4.3.1 การใส่ปุ๋ยคอก วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน คือ การใส่ปุ๋ยคอกที่ได้จากคอกวัว – ควายของชาวนาเอง ปริมาณที่ใส่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่ปริมาณของปุ๋ยคอกที่มี เมื่อนำไปถึงที่นาจะกองไว้เป็นกองเล็ก ๆ กระจายอยู่ในกระทงนา (น้ำหนักประมาณ 300 – 500 กิโลกรัมต่อไร่)

                      4.3.2 การใส่ปุ๋ยหมัก จากผลการวิจัยการใส่ปุ๋ยหมัก 500 – 1000 กิโลกรัมต่อไร่ ช่วยทำให้ดินดีและผลผลิตดีขึ้น แต่การใส่ปุ๋ยหมักในนาไม่เป็นการปฏิบัติที่ปกติของชาวนา หากเป็นการกระทำที่พิเศษ โดยมีหน่วยงานของรัฐไปส่งเสริมให้ทำ เมื่อสิ้นสุดโครงการของหน่วยงานที่ออกไปส่งเสริม การทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้ในนาก็จะสิ้นสุด การทำปุ๋ยหมักต้องใช้ทุน วัสดุอุปกรณ์ และแรงงานค่อนข้างสูง ดังนั้น หากมีชาวนากลุ่มใด หรือ คนใดทำปุ๋ยหมักเพื่อใส่ในไร่นา ถือว่าเป็นชาวนาที่ขยัน และอดทน เพื่อทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินดีขึ้นอย่างแท้จริง

                     4.3.3 การใส่ฟางข้าว ใบไม้ต่าง ๆ โปรยฟางข้าว ใบไม้ต่าง ๆ ในนาประมาณ 500 กิโลกรัมต่อไร่ การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน ไม่มีสูตรเฉพาะ ขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณ ของวัสดุที่เกษตรกรมีอยู่ และความสามารถในการปฏิบัติแบบที่เหมาะสมกับตนเอง

5. อารักขาพืช

        การป้องกันกำจัดวัชพืชในนาข้าวอินทรีย์ให้ใช้แรงงานถอน หรือใช้วิธีการเตรียมดินอย่างดี เช่นไถดะ ซึ่งเป็นการไถกลบหญ้า ฟาง ถ้ามีการคราดก่อนหว่านข้าวหรือก่อนปักดำก็จะคราดเอาวัชพืชออกจากนาด้วย การทำนาหว่านข้าวแห้งแล้วใช้เมล็ดพันธุ์อัตราสูงกว่าปกติ เช่น 20 กิโลกรัมต่อไร่ หรือทำนาแบบปักดำถี่ ทำให้มีปริมาณของต้นข้าวในนามาก จะแข่งขันกับวัชพืชได้ดีกว่าปักดำห่าง หรือใช้อัตราเมล็ดพันธุ์หว่านต่ำ

6. การจัดการก่อนและหลังเก็บเกี่ยว

        ก่อนการเก็บเกี่ยว ถ้ามีน้ำขังอยู่ในนาจะระบายน้ำออกให้แห้งพอดีในระยะเก็บเกี่ยว เพื่อความสะดวกในการ
เกี่ยว และรวงข้าวจะได้สุกแก่พร้อมกันวิธีเก็บเกี่ยว มีทั้งใช้แรงคนเกี่ยว และรถเกี่ยวนวด การใช้แรงงารนคนเก็บเกี่ยว จะตากฟ่อนข้าวไว้ในนา 3 – 4 วัน แล้วเก็บฟ่อนรวมไว้ตามคันนา ซึ่งการรวมฟ่อนก่อนนวดจะเก็บไว้อาจนานถึง 30–40 วัน เนื่องจากการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคนต้องใช้เวลานานหลายรอจนกว่าจะเกี่ยวเสร็จทั้งหมดจึงจะทำการนวด การใช้รถนวดข้าวต้องเป่าทำความสะอาดเครื่องนวดก่อน ป้องกันการปนเปื้อนจากเมล็ดข้าวที่ค้างอยู่ในเครื่อง และแยกเมล็ดข้าวที่นวดก่อนออก 1 – 2 กระสอบ แล้วจึงเก็บเมล็ดข้าวเป็นข้าวอินทรีย์
       การใช้รถเกี่ยวนวด จะเกี่ยวนวดข้าวอินทรีย์แยกออกประมาณ 3–4 กระสอบเพื่อล้างเครื่องไม่ให้เมล็ดข้าวอินทรีย์ปนเปื้อนจากเมล็ดข้าวที่ตกค้างอยู่ในเครื่อง จนแน่ใจว่าข้าวที่จะเก็บเป็นเมล็ดข้าวที่ผลิตโดยวิธีเกษตรอินทรีย์ จากนั้นนำเมล็ดข้าวไปตากให้แห้ง

7. ระบบพืช/ระบบเกษตร

        การปลูกพืชหลังนายังไม่สามารถทำได้เนื่องจากหลังเก็บเกี่ยวข้าวจะเป็นฤดูแล้ง ไม่ค่อยมีความชื้นในดินที่จะปลูกพืชเศรษฐกิจได้ แต่มีบางแห่งสามารถปลูกถั่วลิสงก่อนนา พืชอายุสั้นเช่นถั่วเขียว ถั่วพุ่ม เมื่อปลูกก่อนนาอาจรอจนเก็บเมล็ดได้ เกษตรกรที่ปลูกข้าวอินทรีย์ควรเลี้ยงวัวควายเพราะนอกจากจะได้ขาย ยังได้มูลเป็นปุ๋ยคอกใส่ในนา