การผลิตข้าวอินทรีย์

ข้อมูลจากจังหวัดสกลนคร

1. พันธุ์ข้าว

        ขาวดอกมะลิ 105 กข15 กข6 และ สกลนคร

2. การเตรียมดินและการปลูก

       ใช้รถไถเดินตามหรือรถแทรกเตอร์ ไถครั้งแรกเพื่อกลบตอซังข้าว และหว่านเมล็ดพืชปุ๋ยสดในเดือน เมษายน (หรือเริ่มมีฝนตกความชื้นในดินเหมาะแก่การไถ) ตกกล้าข้าวในเดือน มิถุนายน เตรียมแปลงปักดำโดยรถไถเดินตามหรือ รถแทรกเตอร์ ไถดะ ไถแปร และทำเทือกในเดือนกรกฎาคม ปลูกโดยวิธีปักดำในเดือนเดียวกัน

3. การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน

3.1 ทำปุ๋ยหมักฟางข้าวใช้มูลวัว และฟางข้าวในแปลงข้าวอินทรีย์ เฉพาะส่วนที่ได้จาการนวดข้าว ทำในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์

3.2 ไถกลบตอซังข้าวเดือน เมษายน หรือ เริ่มมีฝนตกความชื้นเหมาะสมแก่การไถ

3.3 หว่านเมล็ดพืชปุ๋ยสดโสนอัฟริกัน อัตรา 5-7 กิโลกรัม/ไร่ ก่อนหว่านทำลายระยะพักตัวโดยการแช่น้ำร้อนนาน 2 นาที โสนขึ้นในนา 55-60 วัน ไถกลบ ปลายเดือนมิถุนายน

3.4 ใส่ปุ๋ยหมักฟางข้าว เพิ่มเติมให้ได้ธาตุอาหาร เท่าที่ต้องคือ 9 กิโลกรัม ไนโตรเจน ต่อไร่ ถ้าใช้ปุ๋ยหมักแล้ว ธาตุอาหาร ไนโตรเจน ยังไม่พอจึงใส่ปุ๋ยคอกมูลวัว (ปกติใช้ปุ๋ยหมักก็พอเพียง)

หมายเหตุ ปุ๋ยพืชสด จะใช้โสนอัฟริกัน เพราะพื้นที่นาส่วนใหญ่ของจังหวัดสกลนคร เป็นที่ลุ่มน้ำขัง และมีฝนตกชุกมีบางพื้นที่ที่เป็นที่ดอน อาจใช้พืชปุ๋ยสดชนิดอื่น เช่น ถั่วเขียว ปอเทือง หรือถั่วพุ่ม

4. การควบคุมน้ำและควบคุมวัชพืช

        ควบคุมระดับน้ำในนาระหว่าง 5-20 ชม. ถ้ามีวัชพืชบ้างจะกำจัดโดยวิธี การถอน 1 ครั้ง เมื่อ 25 วันหลังปักดำ

5. การป้องกันกำจัดศัตรูข้าว เช่น

- หอยเชอรี่ ใช้วิธีการเก็บ

- แมลงศัตรูข้าว ที่พบเช่นเพลี้ยกระโดดหลังขาว หนอนแมลงวันเจาะยอด เพลี้ยจักจั่นสีเขียว พบจำนวนน้อยและมีแมลงศัตรูธรรมชาติ เช่น แมลงมุมเขี้ยวยาว แมลงปอเข็ม แมลงปอบ้าน ตั๊กแตนหนวดยาว แมงมุมสุนัขป่า และด้วงเต่า คอยควบคุม ที่ผ่านมาจึงไม่ได้ใช้สารใด ๆ ควบคุม

6. การจัดการก่อนและหลังเก็บเกี่ยว

         ระบายน้ำออกจากนาก่อนเกี่ยวข้าว 10 วัน เกี่ยวข้าวตากตอซัง 3-4 วัน นวดด้วยเครื่องนวด ข้าวมีคุณภาพดี ความชื้น ที่ได้ประมาณ 12 – 13% แต่ยังไม่มีข้อมูลนี้ ในแปลงเกษตรกร แต่ถ้าเป็นการจัดการข้าวแบบทั่วไป จังหวัดสกลนคร ก็ไม่มีปัญหาเรื่องความชื้นสูง หรือข้าวมีคุณภาพการสีต่ำ เพราะเป็นฤดูนาปี ช่วงเก็บเกี่ยวความชื้นในอากาศต่ำ

7. ระบบพืช/ระบบเกษตรกร

        เป็นพื้นที่นาน้ำฝนเป็นส่วนใหญ่ มีการแนะนำบ้างของกรมส่งเสริมการเกษตรให้ปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อบำรุงดินก่อนการทำนา คิดว่าเกษตรกรจะกระทำได้ถ้ามีการแนะนำหรือสนับสนุน เช่นปลูกโสน ถั่วเขียว หรือปอเทืองก่อนการทำนา พร้อมทั้งแนะนำให้มีการปลูกพืชบำรุงเพื่อเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง