พันธุ์ข้าว

กข63 (RD63)

ชื่อพันธุ์ - กข63 (RD63)
ชนิด - ข้าวเจ้า
คู่ผสม - การผสมพันธุ์ระหว่าง สายพันธุ์ IR68144-2B-2-2-3-1-166 กับพันธุ์ CRS23
ประวัติพันธุ์ - ข้าวสายพันธุ์PTT06036-25-5-B-4-1-4 ได้มาจากการผสมพันธุ์ระหว่าง สายพันธุ์ IR68144-2B-2-2-3-1-166 จากสถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) กับพันธุ์ CRS23 ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ในปี 2549 ปลูกคัดเลือกชั่วที่ 2-7 ตั้งแต่ฤดูนาปรัง 2550 ถึงฤดูนาปรัง 2554 ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี คัดเลือกสายพันธุ์ข้าวที่มีขนาดเมล็ดปานกลาง แล้ววิเคราะห์คุณภาพทางเคมี และคัดเลือกได้สายพันธุ์ PTT06036-25-5-B-4-1 และสายพันธุ์อื่นๆ อีกจำนวน 8 สายพันธุ์ นำไปปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ในฤดูนาปรังและนาปี 2555 วิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพและทางเคมี ปลูกเพิ่มปริมาณเมล็ด และสีเป็นข้าวสารได้ 100 กิโลกรัม ส่งไปทดสอบการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประเทศออสเตรเลีย ในฤดูนาปรัง 2556 ปลูกคัดพันธุ์บริสุทธิ์และเพิ่มปริมาณเมล็ดข้าวสาร 500 กิโลกรัม แล้วส่งทดสอบทำผลิตภัณฑ์ที่ประเทศออสเตรเลียอีกครั้งหนึ่ง พบว่าสายพันธุ์ PTT06036-25-5-B-4-1 มีคุณสมบัติที่สามารถใช้ทำผลิตภัณฑ์ได้ดี แต่ในขณะเดียวกันข้าวสายพันธุ์นี้ยังมีการกระจายตัวจึงได้คัดเลือกลักษณะ ข้าวสายพันธุ์นี้ อีกครั้ง ได้สายพันธุ์ PTT06036-25-5-B-4-1-4  ในฤดูนาปี 2556 ปลูกคัดพันธุ์บริสุทธิ์และเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ หลังการเก็บเกี่ยวส่งปลูกทดสอบความต้านทานต่อโรคและแมลงที่สำคัญในสภาพโรง เรือน ในฤดูนาปรัง 2557ถึงนาปี 2557 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี  และศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น 
การรับรองพันธุ์ - คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาข้าว มีมติให้เป็น พันธุ์รับรองเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558

ลักษณะประจำพันธุ์ - เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง
  - อายุเก็บเกี่ยว 116-120 วัน (วิธีปักดำ)
  - ทรงกอตั้ง ลำต้นแข็ง ใบสีเขียวเข้ม มุมปลายใบตั้งตรง รวงค่อนข้างแน่นแน่น คอรวงอยู่ในกาบใบธงเล็กน้อย
  - เมล็ดร่วงง่าย ข้าวเปลือกสีฟาง ยาว 8.55 มิลลิเมตร กว้าง 2.78 มิลลิเมตร หนา 1.99 มิลลิเมตร
  - หุงเป็นข้าวสวยหรือข้าวสุก มีลักษณะค่อนข้างนุ่ม เหนียว ไม่หอม เลื่อมมันเล็กน้อย
ผลผลิต - ประมาณ 667 กิโลกรัมต่อไร่
ลักษณะเด่น - มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับแปรรูปเป็นข้าวพองอบกรอบได้ดี
  - ลำต้นเตี้ย ต้นแข็ง มีขนาดเมล็ดปานกลาง
  - ค่อนข้างต้านทานต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลกลุ่มแมลงจากจังหวัดพิษณุโลก
พื้นที่แนะนำ -

พื้นที่นาชลประทาน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ