โรคข้าว และการป้องกันกำจัด

โรคกล้าเน่าในกระบะเพาะ (Seedling Rot Disease in Nursery Box)

พบมาก ในกระบะตกกล้าที่ใช้กับรถปักดำ ในพื้นที่ที่ใช้เครื่องปักดำข้าว

สาเหตุ เชื้อรา Curvularia lunata (Wakk.) Board.
                   Bipolaris  oryzae (Helminthosporium oryzae Breda de hann)

อาการ  เริ่มพบอาการได้ในระยะหลังจากการตกกล้าข้าวในกระบะเพาะโดยจะเริ่มพบเมล็ดข้าวบางส่วนที่เพาะไม่งอกและมีเส้นใยของเชื้อราปกคลุม  ส่วนเมล็ดที่งอกต้นกล้าจะมีการเจริญเติบโตช้ากว่าต้นกล้าข้าวปกติ และเมื่อถอนต้นกล้าข้าวขึ้นมาดู ก็จะพบส่วนรากและโคนต้นกล้ามีแผลสีน้ำตาล และแผลที่เกิดบนโคนต้นจะลุกลามขึ้นไปยังส่วนบนของต้นกล้า  ต่อจากนั้นจะทำให้ต้นกล้าเน่าตาย ในขณะเดียวกันเชื้อราสาเหตุของโรคจะขยายจากจุดเริ่มต้นที่เป็นโรค  ออกไปบริเวณโดยรอบไปยังต้นกล้าข้างเคียง โดยในกรณีที่มีการตกกล้าที่หนาแน่น  เชื้อราสาเหตุของโรคสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของกระบะเพาะได้อย่างรวดเร็ว ต่อจากนี้ก็จะพบอาการตายของต้นกล้าข้าวเป็นหย่อมๆ  กรณีที่เป็นโรคในกระบะกล้ารุนแรงทำให้ไม่สามารถนำต้นกล้าข้าวนั้นไปใช้ปักดำได้

กล้าในกระบะเพาะเน่าตาย
อาการกล้าเน่าหลังงอก

การแพร่ระบาด โดยการใช้เมล็ดพันธุ์ที่เป็นโรคเมล็ดด่างมาทำการตกกล้า

การป้องกันกำจัด

  • ไม่ควรใช้เมล็ดพันธุ์จากแปลงที่มีการระบาดของโรคเมล็ดด่างมาก่อน
  • คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คาร์เบนดาซิม + แมนโคเซบ ในอัตรา 3 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม
  • ล้างทำความสะอาดกระบะเพาะกล้าหลังใช้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ได้แก่ สารคลอรีน
  • เผาทำลายต้นกล้าข้าวที่เป็นโรคเน่าตายในกระบะเพาะ