แมลงศัตรูข้าว และการป้องกันกำจัด

ตั๊กแตนโลคัสตา (Oriental migratory locust)

   
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Locusta migratoria manilensis (Meyen)
วงศ์ : Acrididae
อันดับ : Orthoptera
ชื่ออื่น :-

          ตั๊กแตนโลคัสตา L. migratoria manilensis (Meyen) เป็นตั๊กแตนที่มีรูปร่างลักษณะเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพแวดล้อม ความหนาแน่นของประชากรตั๊กแตน และพืชอาหาร พบตลอดปี มีขนาดกลาง สีน้ำตาล หรือเขียวปนเหลือง ตัวเต็มวัยลำตัวยาวประมาณ 60-70 มิลลิลิตร ส่วนหัวกลมนูนมองด้านข้างจะเห็นเป็นรูปหน้าตัดตรง หนวดสั้น แบบเส้นด้าย ตาสีน้ำตาลเข้ม  ส่วนหัวที่ติดกับอกปล้องแรก มีสันคมอยู่ด้านบน  และมีแถบสีดำข้างละ  1 แถบ  ส่วนอกด้านบนโค้งเป็นสัน  ปีกคู่หน้ามีจุดสีน้ำตาลเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป ตัวอ่อนมีหลายสี เช่น เทาดำ น้ำตาล  น้ำตาลปนเขียว  ตั๊กแตนชนิดนี้ มี  2 สภาพ (phases) คือ สภาพแบบอยู่เดี่ยวๆ (solitarious phase) และสภาพแบบรวมกลุ่ม (gregarious hase) สภาพรวมกลุ่มเป็นตั๊กแตนที่มีอันตรายมาก ตัวเต็มวัยเริ่มผสมพันธุ์ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเมษายน เดือนกรกฏาคมถึงพฤศจิกายน และธันวาคม  หลังการผสมพันธุ์ 7-15 วัน ตัวเต็มวัยเพศเมียจะเริ่มวางไข่ ส่วนมากวางไข่ได้ 7-9 ถุง ลักษณะถุงอาจจะยาว กลมรูปทรงกระบอกหรือโค้งงอเหมือนงาช้าง  ไข่หนึ่งถุงมี 45-75 ฟอง  ระยะเวลาวางไข่แต่ละครั้งห่างกัน 4-15 วัน  ไข่ที่วางใหม่ๆ สีเหลือง ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร  เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-1.6 มิลลิเมตร  ภายใน 5-10 ชั่วโมง  สีจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ  ระยะไข่ 14-18 วัน ตัวอ่อนจะลอกคราบ 5-6 ครั้ง ระยะตัวอ่อน 27-40 วัน ตัวเต็มวัยมีอายุ 32-97 วัน พบระบาดมานานและทั่วประเทศ  ส่วนใหญ่พบระบาดในภาคกลางบางครั้งระบาดรวมกับตั๊กแตนปาทังกาและตั๊กแตนไซตา แคนธาคริสหรือตั๊กแตนข้าว

ตัวเต็มวัยตั๊กแตนโลคัสตา L. migratoria manilensis (Meyen)