การผลิตข้าวอินทรีย์

สารอินทรีย์ที่อนุญาตให้ใช้

1. ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากวัสดุในฟาร์ม

1.1 ปุ๋ยหมักที่ได้จากการหมักเศษซากพืช ฟางข้าว ขี้เลื่อย เปลือกไม้ เศษไม้และวัสดุเหลือใช้การเกษตรอื่น ๆ กับปุ๋ยคอก ถ้าจะมีการเติมสารอนินทรีย์ที่ให้ธาตุอาหารลงไปด้วย เช่น หินฟอสเฟต จะต้องเป็นสารชนิดที่อนุญาตให้ใช้ได้

1.2 ปุ๋ยคอก ถ้าเป็นปุ๋ยคอกจากสัตว์ปีก ต้องมีข้อพิจารณา ดังนี้

- เป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ไม่มีการทรมานสัตว์
- อาหารที่ใช้เลี้ยงต้องไม่เป็นพืชที่ได้จากการตัดต่อพันธุกรรม
- ไม่มีการใช้สารเร่งการเจริญเติบโต

1.3 ปุ๋ยพืชสด เศษซากพืช

2. ปุ๋ยอินทรีย์ทุกชนิดตามรายละเอียดในข้อที่ 1 ที่ผลิตจากวัสดุนอกฟาร์ม จำเป็นต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการก่อน

3. ดินพรุ (peat) ที่ไม่ได้เติมสารสังเคราะห์

4. ปุ๋ยชีวภาพหรือจุลินทรีย์ที่พบทั่วไปตามธรรมชาติ

5. สิ่งที่ได้จากการเปลี่ยนแปลงทางพลวัตชีววิทยา (Biodynamic preparations) และจุลินทรีย์ในดิน ยกเว้นจุลินทรีย์ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม

6. ขุยอินทรีย์และสิ่งขับถ่ายจากไส้เดือนดินและแมลง

7. ดินอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

8. ดินชั้นบนที่ปลอดจากการใช้สารเคมีต้องห้ามเป็นเวลานานกว่า 1 ปี และไม่มีการปนเปื้อนของสารพิษ แต่ให้ใช้ได้ในจำนวนจำกัด

9. ผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายและสาหร่ายทะเล โดยต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

10. ปุ๋ยอินทรีย์น้ำที่ผลิตจากพืชและสัตว์ และผลิตผลจากพืชและสัตว์ที่ไม่มีการปนเปื้อนของสารต้องห้าม เช่น น้ำที่ได้จากการหมักปลา หอยเชอรี่ เป็นต้น

11.ของเหลวจากระบบน้ำโสโครกจากโรงงานที่ผ่านกระบวนการหมักโดยไม่เติมสารสังเคราะห์และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ต้องมีหลักฐานยืนยันว่าไม่มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก และสารต้องห้ามตามหลักเกณฑ์ของเกษตรอินทรีย์

12. ของเหลือใช้จากกระบวนการในโรงฆ่าสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานมันสำปะหลัง โรงงานน้ำปลา โดยกระบวนการเหล่านี้ต้องไม่เติมสารสังเคราะห์และจะต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ

13. สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชหรือสัตว์ ซึ่งปลอดจากสารสังเคราะห์

 

สารอนินทรีย์ที่อนุญาตให้ใช้

1. หินและแร่ธรรมชาติ

1.1 หินบด (stone meal)
1.2 หินฟอสเฟต (phosphate rock) จะต้องมีแคดเมียมเป็น องค์ประกอบไม่เกิน 90 มก./กก.P2O5
1.3 หินปูนบด (ground limestone) ในรูปของแร่แคลไซท์ หรือ โดโลไมท์ ห้ามใช้หินปูนโดโลไมท์ที่นำไปเผาไฟ
1.4 ยิบซั่ม (gypsum)
1.5 แคลเซียมซิลิเกต (calcium silicate)
1.6 แมกนีเซียมซัลเฟต (magnesium sulfate)
1.7 แร่ดินเหนียว (clay minerals ) เช่น สเมคไตท์ (smectite) คาโอลิไนท์ (kaolinite) คลอไรท์ (clorite)
1.8 แร่เฟลด์สปาร์ (feldspar)
1.9 แร่เพอร์ไลท์ (perlite) ซีโอไลท์ (zeolite) เบนโทไนท์ (bentonite)
1.10 หินโพแทส เกลือโพแทสเซียมที่มีคลอไรด์น้อยกว่า 60%

2. สารอนินทรีย์อื่น ๆ

2.1 แคลเซียมจากสาหร่ายทะเล
2.2 เปลือกหอย
2.3 เถ้าถ่าน (wood ash) ต้องไม่ผลิตจากการเติมสารสังเคราะห์
2.4 เปลือกไข่บด
2.5 กระดูกป่นและเลือดแห้ง
2.6 โพแทสเซียมซัลเฟตที่ผลิตจากกระบวนการทางกายภาพ
2.7 เกลือสินเธาว์ (mine salt)
2.8 โบแรกซ์ (Borax)
2.9 กำมะถัน
2.10 ธาตุอาหารเสริม (B Cu Fe Mn Mo และ Zn) ต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการก่อน