ตั๊กแตนปาทังกา (Bombay locust) |
|||||||||
ตั๊กแตนปาทังกา P. succincta (Linnaeus) เป็นตั๊กแตนขนาดใหญ่ ลำตัวยาว 60-80 มิลิเมตร รูปหน้ายาว และส่วนของริมฝีปากบนใหญ่ ตาโตรูปไข่ ลักษณะเด่นชัด คือ ที่แก้มทั้ง 2 ข้าง มีแถบสีดำ พาดจากขอบตารวมด้านล่างถึงปาก ส่วนอกตรงกลางจะคอดเข้าเล็กน้อย ด้านข้างอกทั้ง 2 ด้าน มีแถบสีน้ำตาลดำ พาดเป็นทางยาว ต่อไปยังปีกหน้าจนถึงปลายปีก 1-2 แถบ ด้านหลังมีแถบสีเหลืองอ่อน พาดจากส่วนหัวจนถึงปลายปีก ปีกยาวคลุมปิดปลายปล้องท้อง เมื่อกางปีกออก จะเห็นบริเวณโคนปีกคู่ที่ 2 เป็นสีชมพูอ่อน ปีกและลำตัวมีสีน้ำตาลแดง ขาเรียวยาว ครีบหางลักษณะคล้ายกรวย ตัวผู้เล็กเรียวกว่าตัวเมีย ระยะเป็นตัวอ่อน มีสีเขียว สีเหลือง แต่เมื่อเป็นตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาลอ่อน หรือสีน้ำตาลเข้ม ตัวเต็มวัยผสมพันธุ์ประมาณเดือนเมษายน วางไข่ในดิน 1-3 ฝัก 1 ฝักมีไข่ 96-152 ฟอง ไข่มีอายุ 35-41 วัน ฟักออกมาเป็นตัวอ่อนประมาณปลายเดือนพฤษภาคมหรือต้นเดือนมิถุนายน ตัวอ่อนมีการลอกคราบ 7-8 ครั้ง ระยะตัวอ่อน 56-81 วัน อายุตัวเต็มวัย 8-9 เดือน ชั่วอายุขัย 1 รุ่นใน 1 ปี พบทั่วไปในป่าต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการปลูกพืชไร่ ในฤดูแล้งจะพักตัว (ธันวาคม-มีนาคม) และเกาะนิ่งตามหญ้า ไม่กินอาหาร เมื่อถึงเดือนเมษายนจะเริ่มผสมพันธุ์และขยายพันธุ์ต่อไป
|