แมลงศัตรูข้าว และการป้องกันกำจัด

ตั๊กแตนคอนดราคริส (citrus locust, cotton locust)

   
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chondracris rosea brunneri (Uvarov)
วงศ์ : Acrididae
อันดับ : Orthoptera
ชื่ออื่น :-

    ตั๊กแตนคอนดราคริส C. rosea brunneri (Uvarov) เป็นตั๊กแตนขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ Acrididae เพศผู้ขนาด 56 มิลลิเมตร  เพศเมียขนาด 82  มิลลิเมตร  ลำตัวและปีกสีเขียวหรือเขียวเหลือง  หนวดสั้นแบบเส้นด้าย  บริเวณแก้มทั้ง 2 ข้างมีแถบสีดำพาดจากขอบตาไปถึงปาก  บริเวณหัวเมื่อมองด้านข้างจะเห็นเป็นแนวตั้งตรง (vertical) ส่วนอกด้านบนเป็นสันนูน ผิวขรุขระ หลังด้านบนมีแถบสีเหลืองพาดยาวตลอดจากบริเวณสันกะโหลก ผ่านอกส่วนแรกเลยลงไปเกือบสุดปลายปีกคู่หน้า ปีกคู่หน้าสีเขียวตลอด ไม่มีลวดลายใดๆ ทั้งสิ้น โคนขาคู่หลังด้านนอกมีแถบสีดำพาดตามยาวตลอด หน้าแข้งสีม่วง  แดง และมีหนามซี่ใหญ่  เพศเมียวางไข่ ขนาดยาว 7-8 มิลลิเมตร เป็นกลุ่มรวมอยู่ในฝักหรือถุง  ซึ่งมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ รูปทรงกระบอก ยาว 52-75 มิลลิเมตร  ระยะไข่ 3-5 เดือน  ตัวอ่อนมีการลอกคราบ 6-7 ครั้ง ระยะตัวอ่อน  95-129 วัน  ตัวเต็มวัยเริ่มผสมพันธุ์ในเดือนกันยายน – ตุลาคม  วางไข่ในเดือนตุลาคม-ธันวาคม และไข่ฟักเป็นตัวอ่อนในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ชีพจักรของตั๊กแตนชนิดนี้ใน 1 ปีมีการขยายพันธุ์  1 ครั้ง พบในทุกภาคของประเทศ มักจะพบพร้อมๆ กันกับตั๊กแตนปาทังกา  มีการระบาดทำลายระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม

ตัวเต็มวัยตั๊กแตนคอนดราคริส C. rosea brunneri (Uvarov)

การป้องกันกำจัด

1). จับตั๊กแตนในฤดูหนาว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์)  ซึ่งถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 13 องศาเซลเซียส ตั๊กแตนจะเคลื่อนไหวช้า หรือแข็งตัวบินไม่ได้  สามารถจับได้ง่ายด้วยมือเปล่า  นำตั๊กแตนไปจำหน่ายหรือนำไปแปรรูปเป็นอาหาร
2). กำจัดวัชพืชที่เป็นที่หลบอาศัยของตั๊กแตนในไร่และบริเวณใกล้เคียง
3). ไถและพรวนดินเพื่อตากดินและทำลายไข่ของตั๊กแตนที่อยู่ในดิน  ระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
4). หลังการเก็บเกี่ยว  ควรเก็บตอซังและซากพืชให้หมด  เพื่อมิให้เป็นที่อยู่อาศัยของตั๊กแตน