แมลงศัตรูข้าว และการป้องกันกำจัด

ด้วงหมัดจุด (leaf beetle, leaf eating beetle)

   
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Monolepta signata   Olivier
วงศ์ : Chrysomelidae
อันดับ : Coleoptera
ชื่ออื่น :-

             ด้วงหมัดจุด Monolepta signata Olivier ตัวเต็มวัยเป็นแมลงปีกแข็ง ขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตรโตกว่าด้วงหมัดดำเล็กน้อย ส่วนหัวและอกสีเหลืองส้ม ปีกคู่หน้าสีน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้ม บริเวณโคนและปลายปีกคู่หน้าซึ่งคลุมส่วนหน้าท้อง มีจุดใสสีขาวหรือขาวซีดขนาดใหญ่เห็นได้ชัด ข้างละ 2 จุด  ทำลายข้าวไร่ในระยะเป็นต้นกล้าและแตกกอ  มักจะพบด้วงหมัดจุดพร้อมๆ กับด้วงหมัดดำในแปลงปลูกข้าวไร่ เป็นแมลงศัตรูที่มีความสำคัญค่อนข้างน้อย    และยังไม่พบความเสียหายรุนแรงจากการทำลายของด้วงหมัดจุด  การทำลายข้าวไร่ในระยะเป็นต้นกล้าและแตกกอ ใบข้าวด้านบนถูกแทะกัดกินผิวใบเหลือแต่เส้นใบเป็นทางยาว  ถ้ามีการระบาดมากในระยะเริ่มแตกกอ  ต้นข้าวจะเจริญเติบโตช้าและแตกกอน้อย   พบแพร่กระจายตามแหล่งปลูกข้าวไร่ทั่วไป และจำนวนแมลงที่พบมีไม่มาก

ใบข้าวที่ถูกด้วงหมัดจุดทำลาย

การป้องกันกำจัด

       1). การไถตากดิน  หรือกำจัดวัชพืชบริเวณแปลงปลูก หรือปลูกพืชที่ด้วงหมัดดำไม่ชอบ เช่น ผักตระกูลสลัด มะเขือเทศ สลับกับการปลูกข้าวไร่  เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการระบาดลงได้
       2). ในกรณีที่มีแมลงระบาดทำลายสูง ในระยะกล้าหรือต้นอ่อน ใช้สารฆ่าแมลง คาร์โบซัลแฟน ชนิดน้ำ (พอสซ์ 20% อีซี)  อัตรา  100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล ชนิดผงละลายน้ำ  (เซฟวิน 85% ดับบลิวพี) อัตรา 20-30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร  พ่นต้นข้าวให้ทั่วแปลง                    
       3). ในแหล่งที่ปลูกที่มีการระบาดค่อนข้างสูงและเป็นประจำ  ควรคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ก่อนปลูกด้วยสารฆ่าแมลง คาร์โบซัลแฟน ชนิดคลุกเมล็ด (พอสซ์ 25% เอสที)  อัตรา 20 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ 1 กิโลกรัม  และนำไปปลูกทันที