แมลงศัตรูข้าว และการป้องกันกำจัด

แมลงนูน (white grub, scarab beetle)

   
ชื่อวิทยาศาสตร์ :Lachnosterna sp.
วงศ์ : Scarabaeidae
อันดับ :Coleoptera
ชื่ออื่น :หนอนกัดราก

      แมลงนูน Lachnosterna sp. ตัวเต็มวัยเป็นแมลงปีกแข็งสีน้ำตาลถึงน้ำตาลดำ ลำตัวอ้วนและสั้น ขนาดประมาณ  15 มิลลิเมตร  ปีกคลุมส่วนท้องไม่มิด  เพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย หลังการผสมพันธุ์ เพศเมียจะบินลงดิน เพื่อวางไข่ในดิน  ลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร โดยวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ ครั้งละ 3-5 ฟอง วางไข่ได้ 10-15 ฟอง ระยะไข่ 7-10 วัน ระยะหนอน 8-9 เดือน และลอกคราบ 3 ครั้ง หนอนเข้าดักแด้ในดิน โดยทำเป็นโพรงดินลักษณะค่อนข้างกลม และเข้าดักแด้ในโพรงดินนั้น  ระยะดักแด้ประมาณ 2 เดือน เมื่อเริ่มมีฝนตก ดินอ่อน  จะออกเป็นตัวเต็มวัยและผสมพันธุ์ทันที ก่อนเป็นตัวเต็มวัย หนวด ปีก และขา เคลื่อนไหวเป็นอิสระเห็นได้ชัดเจน ยาวประมาณ 15 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยกินใบพืชเป็นอาหารและกินน้อยมาก แตกต่างจากหนอน ซึ่งอาศัยในดินและกินรากพืชสดเป็นอาหาร ระยะไข่จนถึงตัวเต็มวัย ประมาณ 1 ปี

ลักษณะการทำลาย   
     

       พบระบาดทำลายข้าวไร่ โดยหนอนที่อาศัยอยู่ในดิน กัดกินส่วนรากของต้นข้าว ทำให้สูญเสียระบบรากทั้งหมด  จึงเรียกทั่วไปว่า “หนอนกัดราก”   การทำลายข้าวไร่มักปรากฏเป็นหย่อมๆ ไม่แพร่กระจายไปทั้งแปลงปลูก ลักษณะต้นข้าวที่ถูกทำลายในระยะแรก จะเหลืองซีด ชะงักการเจริญเติบโต เนื่องจากระบบรากถูกทำลาย ต่อมาใบข้าวจะแห้งตายมากผิดปรกติ  และจะแห้งตายทั้งกอในที่สุด กอข้าวที่รากถูกหนอนกัดกินทำลาย จะดึงขึ้นออกมาจากพื้นดินได้ง่าย พบในแหล่งปลูกข้าวไร่ทั่วไป  โดยเฉพาะแปลงปลูกที่ล้อมรอบด้วยพืชอาหารและสภาพป่า และเป็นแมลงที่แพร่กระจายในเขตเอเซียอาคเนย์

 

ตัวเต็มวัยแมลงนูน Lachnosterna sp.
ไข่แมลงนูน
ระยะก่อนเป็นตัวเต็มวัย

 

  ตัวหนอนแมลงนูนที่อาศัยอยู่ในใต้ดิน
  สภาพต้นข้าวที่ถูกทำลาย

 

การป้องกันกำจัด

1). จับตัวเต็มวัยที่บินมาเกาะตามต้นพืชอาหารตอนพลบค่ำ โดยใช้ไม้ยาวๆ ฟาดตามกิ่ง ใบ หรือ ปีนขึ้นไปเขย่าให้ตัวเต็มวัยตกลงมา นำไปทำลายหรือเป็นอาหาร  ซึ่งคนพื้นเมืองนิยมบริโภค และควรจับต่อเนื่องกันประมาณ 10-15 วัน ก่อนที่ตัวเต็มวัยจะบินลงวางไข่ในดิน วิธีนี้ทำให้ลดปริมาณแมลงได้มาก

2). ไถพรวนดินหลายๆ ครั้ง เพื่อทำลายไข่และหนอนในดินก่อนการปลูก 

3). สังเกตการทำลายต้นข้าว ซึ่งทั้งกอจะเหลืองซีดผิดปกติและแห้งตายอย่างรวดเร็ว ให้ขุดจับตัวหนอนทำลาย ทิ้ง เพื่อมิให้เคลื่อนย้ายไปทำลายกอใกล้เคียงได้อีก