แมลงวันเจาะยอดกล้า (rice seedling fly, stem mining maggot) |
||||||||||||
แมลงวันเจาะยอดกล้า A. oryzae (Malloch) ตัวเต็มวัยมีรูปร่างลักษณะคล้ายแมลงวันบ้าน แต่มีขนาดเล็กและสีอ่อนกว่า ขนาด 3.8-4 มิลลิเมตร ส่วนอกสีเทา ส่วนท้องสีเหลืองมีจุด ขาสีเหลือง หัวมีลักษณะแหลม เป็นมุม และหนวดเรียวแหลมอย่างมีระเบียบ ตัวเต็มวัยบินได้รวดเร็วและออกหากินในเวลากลางวัน ตัวเมียจะวางไข่ช่วงตอนเย็นเป็นฟองเดี่ยวๆ ที่เส้นใต้ใบข้าวอายุไม่ถึง 30 วัน ตัวเมียวางไข่ได้ประมาณ 100 ฟอง ไข่สีขาว ลักษณะรูปทรงกระบอก ปลายทั้งสองข้างเรียวมน ขนาด 0.3 x 1.5 มิลลิเมตร ระยะไข่ 3 วัน หนอนที่ฟักออกมาใหม่ๆ สีขาวครีม รูปร่างทรงกระบอกเรียวแหลมไปทางหัว ไม่มีขา หนอนมีการลอกคราบ 3 ครั้ง ระยะหนอน 6-10 วัน ก่อนเข้าดักแด้หนอนจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่น สีเหลืองและสีเหลืองเข้ม ระยะดักแด้ 8 วัน ระยะตัวเต็มวัย 10-12 วัน
ความสำคัญและลักษณะการทำลาย แมลงวันเจาะยอดกล้า เป็นแมลงศัตรูข้าวไร่ที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่ง ทำลายข้าวไร่ในระยะต้นกล้าถึงระยะแตกกอ ยอดต้นข้าวที่ถูกทำลายมีอาการ "ยอดแห้ง" (deadheart) คล้ายลักษณะถูกทำลายโดยหนอนกอข้าว และต้นที่ยอดแห้งนี้จะพบหนอนเพียงตัวเดียวเท่านั้น ตัวเต็มวัยวางไข่ที่ใต้ใบ หลังจากฟักเป็นตัวหนอนแล้ว หนอนจะคืบคลานลงสู่บริเวณโคนกาบใบและอาศัยเขี่ยดูดกินอยู่ที่จุดเจริญเติบโต ของต้นข้าว ทำให้ยอดอ่อนของต้นข้าวแสดงอาการยอดเหี่ยวและแห้งตายในที่สุด ปรกติพบทำลายข้าวไร่น้อยมาก แต่ในปี พ.ศ. 2529 พบทำความเสียหายแก่ข้าวไร่อย่างรุนแรง ที่บ้านแม่ยอด หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ศึก อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ข้าวไร่ที่ปลูกล่าช้ากว่าแปลงอื่นที่อยู่ใกล้เคียง ถูกหนอนแมลงวันเจาะยอดกล้าทำลายต้นกล้าเสียหายเกือบทั้งแปลง มักจะพบการระบาดทำลายต้นฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และจะรุนแรงหลังระยะฝนทิ้งช่วง ตามแหล่งปลูกข้าวไร่ในภาคเหนือ โดยเฉพาะบริเวณเชิงเขาและที่สูงบนภูเขา การป้องกันกำจัด 1). ก่อนปลูก ควรเก็บและทำลายตอซังพืชหรือวัชพืช ซึ่งเป็นพืชอาศัยในไร่และบริเวณใกล้เคียง เพื่อกำจัดหนอนที่อาจจะอาศัยในวัชพืชและตอซังเหล่านั้น |