สัตว์ศัตรูข้าว และการป้องกันกำจัด

หนูศัตรูข้าว

        หนูในนาข้าวที่สำคัญ มี 7 ชนิด คือ หนูพุกใหญ่   หนูพุกเล็ก  หนูนาใหญ่   หนูนาเล็ก  หนูท้องขาวบ้าน  หนูหริ่งนาหางยาว  และ หนูหริ่งนาหางสั้น

ลักษณะการทำลาย  

        หนูทำให้ข้าวเสียหายตั้งแต่เริ่มปลูก โดยกัดกินเมล็ดข้าวที่งอก เมื่อข้าวเริ่มงอกถึงระยะแตกกอ หนูจะกัดต้นข้าว โดยอาจจะไม่กินข้าวที่กัดนั้นทั้งหมด เมื่อข้าวออกรวง หนูจะกัดกินลำต้นหรือคอรวงให้ขาด แล้วแกะเมล็ดออกจากรวงกิน นอกจากนี้ยังเก็บสะสมรวงข้าวไว้ในรัง เพื่อเป็นอาหารหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว

การป้องกันกำจัดหนูศัตรูข้าว

  1. การปรับสภาพแวดล้อมบริเวณแปลงนาให้ไม่เหมาะต่อการอาศัยของหนู
    • ลดขนาดของคันนาให้เล็ก เพื่อลดที่อยู่อาศัยและที่ผสมพันธุ์ (น้อยกว่า 30 เซนติเมตร)
    • กำจัดวัชพืชหรือกองวัสดุเหลือใช้ตามบริเวณคันนาอยู่เสมอ
  2. การดัก โดยใช้กับดักชนิดต่างๆ
  3. การขุดหนู สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวที่มีแรงงานและเวลามากพอ
  4. การล้อมตีหนู ในช่วงหลังจากเก็บเกี่ยว
  5. การทำรั้วกั้น หรือการล้อมรั้วร่วมกับการใช้ลอบหรือกรงดัก
  6. การใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่น งู นกแสก นกเค้าแมว ช่วยกำจัดหนู
  7. การใช้เหยื่อโปรโตซัวกำจัดหนู วางในรูหรือทางเดินหนู และควรใช้ภาชนะสำหรับใส่เหยื่อวางจุดละ 2 ก้อน ห่างกัน 10-20 เมตร จำนวน 20-25 ก้อนต่อไร่

การป้องกันกำจัดหนูโดยใช้สารกำจัดหนู

ประเภทของสารกำจัดหนู

ชื่อสารกำจัดหนู

วิธีใช้

ประเภทออกฤทธิ์เร็ว

ซิงค์ฟอสไฟด์

หรือ ยาดำ

* ก่อนปลูกข้าวหรือระหว่างการเตรียมดิน ใช้ผสมกับเหยื่อในอัตราส่วน ยาดำ : เหยื่อ
= 1 : 100 ส่วนโดยน้ำหนัก
(ใช้เพียง 1 ครั้งต่อฤดูปลูก)

ประเภทออกฤทธิ์ช้า

โฟลคูมาเฟน (สะตอม 0.005%)
โบรไดฟาคูม (คลีแร็ต 0.005%) 
โบรมาดิโอโลน (เส็ด 0.005%)

และ ไดเฟทไทอะโลน (บาราคี 0.005%)     

* ใช้เดือนละ 1 ครั้ง ติดกัน 3 เดือน ห่างจากการใช้ยาดำ 2 สัปดาห์ โดยวางจุดละ
1 ก้อนห่างกัน 10 เมตร ให้ทั่วแปลง

 

การป้องกันกำจัดหนูจะประสบความสำเร็จ

หากเกษตรกรร่วมใจกันและกระทำอย่างต่อเนื่อง

ดาวโหลดเอกสาร  :

  • หนูศัตรูข้าวที่สำคัญในประเทศไทย.PDF
  • แนวทางการป้องกันกำจัดหนูในนาข้าวข้าวอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ.PDF

สกุลหนูพุก

          สกุลหนูพุก (Bandicota sp.) เป็นหนูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนหนูศัตรูพืช ในประเทศไทย ลักษณะสำคัญ คือ หน้าสั้น ขนหลังสีดำปนเทา หรือดำตลอด ขนท้องสีเทา หางสีดำตลอด ความยาวของหางสั้นกว่าความหัวและลำตัวรวมกัน (และมีเกล็ดหยาบ) หนูพุกชอบส่งเสียงร้องขู่เมื่อพบศัตรูหรือเมื่อจับได้ ชาวบ้านชอบรับประทานเพราะตัวขนาดใหญ่ และเนื้อมาก มี 2 ชนิด คือ หนูพุกใหญ่ และหนูพุกเล็ก

 

หนูพุกใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bandicota indica  (Beckstein)

วงศ์ :   Muridae           

อันดับย่อย :  Myomorpha          

อันดับ : Rodentia

ชื่อสามัญอื่น :  หนูแผง

          หนูพุกใหญ่ (The great bandicoot) มีขนาดใหญ่ที่สุด ตัวเต็มวัยหนัก 200-800 กรัม ส่วนมากพบหนักประมาณ 600 กรัม  หน้าสั้น ขนตามลำตัวส่วนหลังมีสีดำ บริเวณด้านหลังช่วงท้ายทอยมีแผงขนสีดำ (ภาพที่ 1) และจะตั้งขึ้นเห็นได้ชัดเมื่อตกใจ  เกษตรกรรู้จักในชื่อ “หนูแผง” เสียงขู่ร้องดังมากในลำคอ ตีนหลังมีสีดำและยาวมากกว่า 50 มิลลิเมตร  เพศเมีย มีเต้านมที่อก 3 คู่  ที่ท้อง 3 คู่  ขุยดินที่กองหน้าปากรูทางเข้ามีขนาดใหญ่

ภาพที่ 1 หนูพุกใหญ่ Bandicota indica  (Beckstein)

ความสำคัญ

          พบทั่วประเทศ เป็นศัตรูพืชเศรษฐกิจ และเป็นพาหะหรือรังโรคติดต่อสู่คนและสัตว์เลี้ยง เช่น  ฮันต้าไวรัส (Hantaan virus)  มิวรีนไทฟัส (murine typhus)  เลปโตสไปโรซีส (leptospirosis) เป็นต้น ทำลายข้าวตั้งแต่ระยะปลูกจนถึงระยะเก็บเกี่ยว  ชอบขุดรูอาศัยอยู่ตามดงหญ้าคา  จอมปลวก  คันนาหรือคันคูคลองส่งน้ำ

ที่มาข้อมูล : กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร. 2544. หนูและการป้องกันกำจัด. เอกสารวิชาการกองกีฏ และสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 136 หน้า.


หนูพุกเล็ก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bandicota savilei  (Thomas)

วงศ์ : Muridae             

อันดับย่อย : Myomorpha                         

อันดับ : Rodentia

ชื่อสามัญอื่น : -

 

          หนูพุกเล็ก (lesser bandicoot) ลักษณะทั่วๆ ไปคล้ายหนูพุกใหญ่ แต่มีขนาดเล็กกว่า น้ำหนักประมาณ 200 กรัม ขนตามลำตัวส่วนหลังสีเทาเข้ม ส่วนด้านท้องสีเทาอ่อน บางครั้งมีขนสีขาวขึ้นแซม ปกติหางมีสีเดียวกันตลอดหาง (ภาพที่ 1) บางท้องที่จะพบปลายหางเป็นสีขาว ตีนหลังจะมีความยาวน้อยกว่า 50 มิลลิเมตร พบทุกภาค มีเสียงร้องขู่เบาๆ ดังน้อยกว่าหนูพุกใหญ่ ขุดรูอาศัยในคันดินหรือตามคันคูคลอง  และมีกองขุยดินที่ปากรู

ภาพที่ 1 หนูพุกเล็ก Bandicota savilei  (Thomas)

ความสำคัญ

          พบมากทางภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  เป็นศัตรูพืชเศรษฐกิจ และเป็นพาหะหรือรังโรคติดต่อสู่คนและสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกันกับหนูพุกใหญ่ กัดแทะทำลายข้าวและพืชไร่ตั้งแต่ระยะปลูก ไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว

ที่มาข้อมูล : กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร. 2544. หนูและการป้องกันกำจัด. เอกสารวิชาการกองกีฏ และสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 136 หน้า.


สกุลหนูท้องขาว

          สกุลหนูท้องขาว (Rattus sp.) เป็นหนูขนาดกลาง ซึ่งพบเห็นทั่วไปตามบ้าน และไร่-นา สีขนบริเวณท้องมีทั้งสีเทา สีครีมขาว สีครีม และสีเงิน ส่วนขนที่หลังมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ หรือสีน้ำตาลแดง บางชนิดมีสีเหลืองปนอยู่ด้วย บางชนิดมีสีขาวอมน้ำตาล สกุลหนูท้องขาวที่สำคัญในประเทศไทย และเป็นศัตรูในนาข้าวที่สำคัญ มี 3 ชนิด คือ หนูนาใหญ่ หนูนาเล็ก และหนูท้องขาวบ้าน

 

หนูนาใหญ่

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rattus argentiventer  (Robinson and Kloss)

วงศ์ : Muridae                

อันดับย่อย : Myomorpha                         

อันดับ : Rodentia

ชื่อสามัญอื่น :   หนูนาท้องขาว  หนูฝ้าย

 

          หนูนาใหญ่ (ricefield rat) ตัวเต็มวัยมีน้ำหนัก 100 –250 กรัม หางสั้นกว่าหรือเท่ากับความยาวหัวและลำตัวรวมกัน หางมีสีดำตลอด ขนด้านท้องมีสีเงินออกขาว (ภาพที่ 1) ในหนูที่ยังโตไม่เต็มวัย จะมีขนสีส้มกลุ่มเล็กๆที่โคนหู เพศเมียมีเต้านม 3 คู่ที่ส่วนอก และ 3 คู่ที่ส่วนท้องด้านล่าง ตาและใบหูเล็ก ขุดรูอาศัยตามคันนา  หรือคันคูคลอง  หรือที่ที่มีวัชพืชขึ้นปกคลุม มีกองขุยดินที่ปากรู

ภาพที่ 1  หนูนาใหญ่ Rattus argentiventer  (Robinson and Kloss)

 

ความสำคัญ

          เป็นศัตรูของการปลูกข้าวในภาคกลาง และยังเป็นพาหะหรือรังโรคติดต่อสำคัญสู่คนและสัตว์เลี้ยง เช่น กาฬโรค (plague)  เลปโตสไปโรซีส (leptospirosis) สครับไทฟัส (scrub typhus)  กัดแทะทำลายข้าว และพืชไร่ตั้งแต่ระยะปลูก จนถึงระยะเก็บเกี่ยว ความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากหนูกัดแทะเป็นอาหารและลับฟันแทะ

ที่มาข้อมูล : กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร. 2544. หนูและการป้องกันกำจัด. เอกสารวิชาการกองกีฏ และสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 136 หน้า.


หนูนาเล็ก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rattus losea (Swinhoe)

วงศ์ : Muridae                 

อันดับย่อย : Myomorpha                        

อันดับ : Rodentia

ชื่อสามัญอื่น : หนูนาท้องขาว  หนูฝ้าย

หนูนาเล็ก (lesser ricefield rat) มีขนาดเล็กกว่าหนูนาใหญ่ ตัวโตเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 77- 100 กรัม ขนลำตัวส่วนหลังและตีนหลังมีสีน้ำตาลคล้ำหรือปนดำ นุ่มและไม่มีขนแข็งแทรก หางสั้นกว่าความยาวหัวและลำตัวรวมกัน ขนส่วนท้องมีสีเทาอ่อน เพศเมียมีนม 2 คู่ ที่ส่วนอก และ 3 คู่ที่ส่วนท้อง ตาและใบหูเล็ก (ภาพที่ 1) ขุดรูอาศัยตามคันนา และแปลงปลูกพืช

ความสำคัญ

          เป็นศัตรูที่สำคัญของข้าว ธัญพืชเมืองหนาว พบทุกภาคของประเทศแต่พบมากในภาคกลาง ภาคเหนือ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และยังเป็นพาหะหรือรังโรคติดต่อสำคัญสู่คนและสัตว์เลี้ยง เช่น กาฬโรค (plague)
เลปโตสไปโรซีส (leptospirosis) สครับไทฟัส (scrub typhus)  กัดแทะทำลายข้าวและพืชไร่ตั้งแต่ระยะปลูก  จนถึงระยะเก็บเกี่ยว  ความเสียหายเกิดขึ้นเนื่องจากหนูกัดแทะเป็นอาหารและลับฟันแทะ

ที่มาข้อมูล : กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร. 2544. หนูและการป้องกันกำจัด. เอกสารวิชาการกองกีฏ และสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 136 หน้า.


หนูท้องขาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rattus rattus  (Linnaeus)

วงศ์ : Muridae                   

อันดับย่อย : Myomorpha                  

อันดับ : Rodentia

ชื่อสามัญอื่น : หนูท้องขาวบ้าน  หนูหลังคา  หนูเรือ

 

          หนูท้องขาว (roof rat, ship rat) มีลักษณะหางยาวกว่าความยาวหัวและรวมกับลำตัว  ปีนป่ายได้คล่องแคล่ว
มีความหลากหลายในเรื่องของสีขน ขนด้านท้องสีขาวหรือสีครีม ตาโตและใบหูใหญ่  (ภาพที่ 1) เพศเมียมีเต้านม
2 คู่ ที่ส่วนอก และ 3 คู่ที่ส่วนท้อง (บางแห่ง เพศเมียมีเต้านม 2 คู่ ที่ส่วนอก และ 3 คู่ที่ส่วนท้อง) อาศัยบนต้นไม้  ป่าหญ้า หรือใต้เพดานของอาคาร ถ้าขุดรูลงในดินมักไม่มีกองขุยดินที่ปากรู หรือถ้ามีจะมีน้อยมาก

ภาพที่ 1 หนูท้องขาว Rattus rattus (Linnaeus)

ความสำคัญ

          พบทั่วประเทศ เป็นศัตรูของพืชเศรษฐกิจ และยังเป็นพาหะหรือรังโรคติดต่อสู่คนและสัตว์เลี้ยง เช่น  
กาฬโรค (plague)  สครับไทฟัส (srrub typhus)  มิวรีนไทฟัส (murine typhus)ฯลฯ กัดแทะทำลายข้าวและพืชไร่ตั้งแต่ระยะปลูก ไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยว  สำหรับไม้ยืนต้นอื่น ๆ จะกัดแทะเปลือกลำต้นหรือกิ่ง และส่วนผล

ที่มาข้อมูล : กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร. 2544. หนูและการป้องกันกำจัด. เอกสารวิชาการกองกีฏ และสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 136 หน้า.


สกุลหนูหริ่ง

          สกุลหนูหริ่ง เป็นหนูที่มีขนาดเล็กที่สุด น้ำหนักตัวโตเต็มวัยประมาณ 8-20 กรัม หนูสกุลนี้ ขนลำตัวด้านหลังสีเทา ด้านท้องสีขาว หางมี 2 สี ขุดรูอาศัยตามคันนา หรือในแปลงปลูกพืชที่แห้ง และมีหญ้ารก ในหน้าแล้งจะอาศัยอยู่ตามรอยแตกระแหงของดิน เพศเมียมีเต้านม 3 คู่ที่อก และ 2 คู่ที่ท้อง สกุลหนูหริ่งที่สำคัญในประเทศไทย และเป็นศัตรูในนาข้าวที่สำคัญ มี 2 ชนิด คือ หนูหริ่งนาหางยาว และหนูหริ่งนาหางสั้น

 

หนูหริ่งนาหางยาว

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mus caroli  (Bonhote)

วงศ์ :   Muridae           

อันดับย่อย :  Myomorpha          

อันดับ : Rodentia

ชื่ออื่นๆ  : -

 

          หนูหริ่งนาหางยาว (Ryuku mouse) ฟันแทะ คู่บนจะตั้งฉากกับ palate สีผิวด้านหน้าของฟันแทะคู่บนมีสีแทน หรือน้ำตาลเข้ม มากกว่าหนูหริ่งชนิดอื่นๆ ส่วนฟันแทะคู่ล่างมีสีขาว จมูกสั้น จึงทำให้ส่วนหน้าทู่ หางยาวกว่าความยาวหัวและลำตัวรวมกัน และมี 2 สีชัดเจน คือ สีด้านบนของหางจะมีสีดำ ด้านล่างมีสีขาว ตีนหลังใหญ่และมีสีเทา (ภาพที่ 1) ปีนป่ายได้ดีกว่าหนูหริ่งนาหางสั้น  ขุดรูอาศัยตามคันนา หรือที่มีหญ้ารก

ภาพที่ 1 หนูหริ่งนาหางยาว Mus caroli Bonhote

ความสำคัญ

          พบในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในประเทศไทย พบเป็นศัตรูสำคัญของข้าว และธัญพืชเมืองหนาว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และข้าวโพด ในยุโรปพบอยู่อาศัยตามบ้านเรือนในเขตชุมชน ในออสเตรเลียพบระบาดมากในไร่ข้าวสาลี และธัญพืช เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุดของการผลิตธัญพืชต่างๆ

ที่มาข้อมูล : กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร. 2544. หนูและการป้องกันกำจัด. เอกสารวิชาการกองกีฏ และสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 136 หน้า.


หนูหริ่งนาหางสั้น

ชื่อวิทยาศาสตร์  : Mus cervicolor (Hodgson)

วงศ์ :   Muridae           

อันดับย่อย :  Myomorpha         

อันดับ : Rodentia

ชื่ออื่นๆ  -

 

          หนูหริ่งนาหางสั้น (fawn-colored mouse) ฟันแทะคู่บนจะโค้งงอเข้าด้านใน และไม่ตั้งฉากกับเพดานปาก สีของฟันแทะคู่ล่างขาวหรือคล้ำกว่าสีฟันแทะของหนูหริ่งนาหางยาว สีผิวด้านหน้าของฟันแทะคล้ายกับหนูหริ่งนาหางยาว แต่อ่อนกว่ามาก จมูกยาวกว่า ทำให้ส่วนหน้าแหลม ตีนหลังขาว หางมี 2 สี แต่อ่อนกว่าหนูหริ่งนาหางยาว และหางสั้นกว่าความยาวส่วนหัวและลำตัวรวมกัน (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1 หนูหริ่งนาหางสั้น Mus cervicolor (Hodgson)

ความสำคัญ

          ในประเทศไทยพบเป็นศัตรูสำคัญของข้าว ธัญพืชเมืองหนาว และพืชไร่ เขตแพร่ กระจาย และความสำคัญในทางเกษตร เช่นกันกับหนูหริ่งนาหางยาวที่มาข้อมูล : กองกีฏและสัตววิทยา, กรมวิชาการเกษตร. 2544. หนูและการป้องกันกำจัด. เอกสารวิชาการกองกีฏ และสัตววิทยา กรมวิชาการเกษตร, 136 หน้า.