การจัดการดินและปุ๋ยในนาข้าว

การปลูกมะเขือเทศในนาข้าว


ลักษณะการเจริญเติบโตของมะเขือเทศ แบ่งออกเป็น
         แบบเลื้อย   มะเขือเทศประเภทนี้ ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะสามารถเจริญเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด มีกิ่งแขนงขนาดใกล้เคียงกับลำต้น 2 - 3 แขนง และมีแขนงย่อยได้อีกไม่จำกัด ช่อดอกแรกเกิดระหว่างข้อที่ 8 และ 9   ช่อดอกต่อมาจะเกิดขึ้นทุกๆ 3 ข้อ ลำต้นอาจจะสูงหรือยาวกว่า 10 เมตร
         แบบพุ่ม   มีลำต้นตั้งตรง กิ่งแขนงหลายแขนงเกิดตามข้อบนลำต้นด้านล่าง และอาจมีแขนงย่อยได้อีก ช่อดอกเกิดระหว่างข้อทุกข้อ ในเวลาใกล้เคียงกัน เมื่อตายอดเกิดช่อดอกแล้วจะหยุดการเจริญเติบโต    มะเขือเทศบางพันธุ์ เมื่อตายอดเกิดช่อดอกแล้วจะมีกิ่งแขนง เกิดที่ข้อใต้ช่อดอก เติบโตต่อไปเรื่อยๆ เรียกว่า เจริญเติบโต


สภาพภูมิอากาศและฤดูปลูกที่เหมาะสม
         มะเขือเทศสามารถเจริญเติบโตทางด้านลำต้น ใบ และออกดอกได้ดีตลอดทั้งปี แต่การติดผลของมะเขือเทศต้องการสภาพอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิกลางวันที่เหมาะสมอยู่ที่ระหว่าง 25 - 30 องศาเซลเซียส อุณหภูมิกลางคืนประมาณ 16 - 20 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิกลางคืนสูงกว่า 22 องศาเซลเซียส จะทำให้มะเขือเทศไม่ติดผลหรือติดผลได้น้อยมาก ฝนและความชื้นสูงเป็นสาเหตุสำคัญทำให้โรคทางใบและทางรากระบาดรุนแรง ดังนั้นฤดูปลูกที่เหมาะสมที่สุดจึงอยู่ในช่วงฤดูหนาว โดยมีช่วงหยอดเมล็ดเพาะกล้าอยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ซึ่งนอกจากสภาพอากาศจะเหมาะสมต่อการติดผล ทำให้ได้ผลผลิตสูงแล้วยังมีศัตรูพืชรบกวนน้อย ต้นทุนการผลิตจึงต่ำกว่าการปลูกในฤดูอื่นด้วย

 

สภาพดินและความอุดมสมบูรณ์ของดิน
         มะเขือเทศเจริญเติบโตได้ดีทั้งในดินร่วนเหนียวและดินร่วนทราย ความเป็นกรดด่าง (pH) ที่เหมาะสมประมาณ 5.5 - 7.0 และเป็นดินที่ระบายน้ำดี มะเขือเทศไม่ชอบน้ำขังแฉะ ถ้าฝนตกติดต่อกัน จะต้องเร่งระบายน้ำออกให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ควรเป็นแหล่งที่ไม่เคยปลูกมะเขือเทศมาก่อนในระยะ 1 - 2 ปี ที่ผ่านมา เพราะจะมีโรคแมลงสะสมทำให้การป้องกันกำจัดทำได้ยาก

       

การปลูกทำได้ 2 วิธี
         1. เพาะกล้าแล้วย้ายปลูก   โดยเตรียมแปลงกล้าอย่างประณีต ยกแปลงสูงประมาณ 1 คืบ นำปุ๋ยคอก หรือ ปุ๋ยหมักมาคลุกเคล้าประมาณ 1 - 2 บุ้งกี๋ ต่อ 1 ตารางเมตร ใช้เมล็ดประมาณ 30 - 40 กรัม หยอดลงบนแปลงยาว 10 เมตร กว้าง 1 เมตร จะได้ต้นกล้าพอสำหรับปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ การหยอดเมล็ด ควรหยอดเป็นแถวห่างกันประมาณ 10 ซม. ลึกไม่เกิน 1 ซม. เมื่อหยอดเมล็ดแล้วกลบด้วยดินผสมปุ๋ยหมัก และคลุมแปลงด้วยฟางข้าว หรือ หญ้าแห้งบางๆ ในช่วง 3 วันแรก รดน้ำสม่ำเสมออย่าให้ผิวหน้าดินแห้ง และถ้าแดดจัดหรือฝนตกหนักต้องคลุมแปลงด้วยผ้าไนล่อนหรือผ้าพลาสติก เพื่อป้องกันเม็ดฝนกระแทกลำต้นหรือใบเป็นรอยซ้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย โรคที่สำคัญในแปลงกล้า คือ โรคโคนเน่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝนตกติดต่อกัน ความชื้นในอากาศและที่ผิวดินสูง ป้องกันโดยนำเศษฟางหรือหญ้าที่ใช้คลุมแปลงออกให้หมด เพื่อให้แปลงกล้าโปร่งและการระบายอากาศดี แล้วฉีดพ่นด้วยยากันรา ในช่วงที่กล้ามะเขือเทศอายุประมาณ 17 - 22 วัน ควรลดปริมาณน้ำที่ให้ลง และให้กล้าได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่ ต้นกล้าจะแข้งแรง เหนียว ไม่อวบฉ่ำน้ำ ซึ่งมีผลให้กล้ารอดตายมาก หลังจากย้ายกล้า โดยทั่วไปการย้ายกล้าลงแปลงปลูกมักจะใช้กล้าอายุประมาณ 21 - 25 วัน หลังจากหยอดเมล็ดหรือเมื่อกล้ามีใบจริง 3 - 4 ใบ


          2. หยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง ใช้ในกรณีที่สามารถให้น้ำได้ง่าย แต่จะเสียเวลาและแรงงาน ในการดูแลรักษามากกว่า อีกทั้งต้องใช้เมล็ดพันธุ์มากขึ้นเป็น 80 - 100 กรัม ต่อไร่   สำหรับระยะปลูกที่เหมาะสม ควรใช้ระยะระหว่างแถว 1 เมตร ระยะระหว่างต้น 25 - 50 ซม. ปลูก 1 ต้น ต่อ หลุม ถ้าใช้ระยะปลูกแคบจะได้ผลผลิตต่อ พื้นที่มากขึ้น แต่การควบคุมโรคและการปฏิบัติงานอื่น จะยุ่งยากขึ้นด้วย ในฤดูแล้งควรปลูกถี่ ส่วนในฤดูฝนควรใช้ระยะปลูกห่าง เนื่องจากมะเขือเทศเจริญเติบโตดี มีทรงพุ่มสูงใหญ่กว่าฤดูอื่นๆ

 

การปฏิบัติดูแลรักษา
         - การคลุมแปลงปลูกด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง เพื่อรักษาความชื้นของดินและเป็นการป้องกันการชะล้างผิวหน้าดินเมื่อฝนตกหรือให้น้ำ นอกจากนี้ยังช่วยลดเปอร์เซ็นต์ผลเน่าและการระบาดของโรคทางใบ ซึ่งจะช่วยให้ผลผลิตเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20 - 40 % แต่ฟางมักจะมีเชื้อราสเคอโรเตี่ยมติดมาด้วย ทำให้เกิดโรคเหี่ยวต้นแห้งตายไป การคลุมฟางจึงควรคลุมให้ห่างโคนต้น เพื่อไม่ให้โคนต้นมีความชื้นสูงเกินไป
          - การกำจัดวัชพืช ใช้สารเคมีชื่อ เมตริบูซิน หรือชื่อการค้าว่า เซงคอร์ อัตรา 80 - 120 กรัม (เนื้อสารบริสุทธิ์) หรือ 115 - 170 กรัม สารเซงคอร์ 70 % ต่อพื้นที่ปลูก 1 ไร่ ฉีดหลังจากย้ายกล้า ขณะที่ดินมีความชื้นอยู่ จะสามารถควบคุมวัชพืชใบแคบและใบกว้างบางชนิดได้ แต่ถ้ามีการพรวนดิน พูนโคนหลังจากใส่ปุ๋ยที่อายุ 20 และ 40 วัน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีควบคุมวัชพืช

       - การใส่ปุ๋ย
         1. ปุ๋ยรองพื้น ใช้ปุ๋ย 15 - 15 - 15 อัตรา 30 กก./ไร่ รองก้นหลุมพร้อมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 2,000 กก./ไร่ และโบแรกซ์ 4 กก./ไร่
         2. ปุ๋ยแต่งหน้าที่อายุ 7 - 10 วัน หลังจากย้ายปลูก ใช้ปุ๋ย 46 - 0 - 0 หรือ 21 - 0 - 0 อัตรา 10 หรือ 20 กก./ไร่ ถ้าเปลี่ยนแปลงปลูกที่เคยปลูกผักกินใบ เช่น ผักชี มาก่อนควรใช้ปุ๋ย 13 - 13 - 21 แทน
         3. ปุ๋ยแต่งหน้าที่อายุ 21 - 25 วัน หลังจากย้ายปลูก ใช้ปุ๋ย 15 - 15 - 15 อัตรา 30 กก./ไร่
         4. ปุ๋ยแต่งหน้าที่อายุ 40 วัน หลังจากย้ายปลูก ใช้ปุ๋ย 13 - 13 - 21 อัตรา 30 กก./ไร่
         5. ปุ๋ยแต่งหน้าที่อายุ 60 วัน หลังจากย้ายปลูก ใช้ปุ๋ยชนิดและอัตราเดียวกับครั้งที่ 4 แต่ถ้าสภาพต้นมะเขือเทศค่อนข้างโทรมมีผลน้อยก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยครั้งที่ 5

       ในสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสม เช่น ร้อนเกินไปหรือมีฝนตกบ่อย ทำให้ต้นมะเขือเทศไม่ค่อยสมบูรณ์ หรือมีอาการเฝือใบ อาจช่วยได้โดยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบสูตรต่างๆ ตามระยะการเจริญเติบโต เช่น ในระยะยังไม่ออกดอกอาจใช้ปุ๋ยใบสูตรเสมอ เช่น 25 - 25 - 25 ส่วนในระยะออกดอกแล้วควรใช้ปุ๋ยใบที่มีฟอสฟอรัส และ โปแตสเซียมสูง เช่น 10 - 23 - 20 หรือ 10 - 30 - 20 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีปุ๋ยใบที่มีธาตุอาหารรอง หลายชนิดอยู่ด้วย เช่น แมงกานีส เหล็ก สังกะสี โบรอน จะช่วยให้ต้นมะเขือเทศสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
         - การให้น้ำ ระยะที่มะเขือเทศต้องการน้ำมากคือ ช่วงแรกของการเติบโตและช่วงที่ผลกำลังขยายขนาด (ประมาณ 35 - 50 วัน หลังจากย้ายกล้า) สำหรับช่วงที่กำลังติดผล (20 -35 วัน) ไม่ต้องการน้ำมากนัก แต่ต้องการการพรวนดิน เพื่อให้รากเจริญเติบโตลงไปได้ลึก และรากกระจายทางด้านข้างได้สะดวก
         - การปักค้าง มีความจำเป็นมากเมื่อปลูกมะเขือเทศในฤดูฝน หรือ ปลูกด้วยพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตแบบเลื้อย การปักค้างแบบค้างเดี๋ยวหรือแบบกระโจม จะช่วยให้ผลผลิตของมะเขือเทศสูงขึ้นกว่าการไม่ปักค้าง 20 % และทำให้การฉีดยาป้องกันศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว และการปฏิบัติงานอื่นๆ ในแปลงสะดวกขึ้น นอกจากปักค้างแล้วต้องหมั่นผูกต้นมะเขือเทศติดกับค้างด้วย มิฉะนั้นแขนงที่เกิดใหม่จะเจริญเติบโตทอดไปกับดินทำให้ผลเน่าเสียหายได้
         - การเก็บเกี่ยวผลสด
เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่ออายุประมาณ 55 วัน หลังจากย้ายกล้า โดยเก็บผลที่เริ่มเปลี่ยนสี เพื่อหลีกเลี่ยงผลแตกและผลสุกเกินไป

 

การปลูกมะเขือเทศในนาข้าว