การปลูกพืชอายุสั้น…ในสภาวะแห้งแล้ง
สภาวะแห้งแล้ง หรือภัยแล้ง หมายถึง สภาวะที่ขาดแคลนปริมาณน้ำฝน อย่างผิดปกติ จนไม่เพียงพอต่อความต้องการ นานเกินกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป และเกิดครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างเป็นผลสืบเนื่องมาจากปริมาณฝนตกในช่วงต้นปีที่ผ่านมาน้อยกว่าปกติทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง คือ ช่วง ธันวาคม-เมษายนอย่างรุนแรงซึ่งมีผลต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรโดยตรง เมื่อหมดฤดูนาปีแล้วจำเป็นต้องให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรังในส่วนที่ทำได้
พืชใช้น้ำน้อย หมายถึง พืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าข้าว (ข้าวใช้น้ำ 1,200-1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อฤดูกาลผลิต) เช่น พืชไร่ พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ใช้น้ำประมาณ 300-700 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อฤดูกาลผลิต
การพิจารณาชนิดพืชที่ใช้น้ำน้อย และการส่งเสริมการผลิตพืชที่จะลดการปลูกข้าวนาปรังในช่วงวิกฤตภัยแล้ง ต้องคำนึงถึงดังนี้
1. เป็นพืชที่สร้างรายได้ สามารถบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงภัยแล้ง ซึ่งต้องมีตลาดรองรับแน่นอน
2. เป็นพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ของเกษตรกร และสามารถที่จะเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตภัยแล้ง (พฤศจิกายน-เมษายน) ได้
3. ส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการด้านการผลิต การตลาด และสินเชื่อ
การจำแนกกลุ่มพืชที่สามารถเพาะปลูกได้ในฤดูแล้ง จำนวน 39 ชนิด ประกอบด้วย พืชไร่ สมุนไพร และไม้ดอกไม้ประดับ โดยในแต่ละกลุ่มพืชมีชนิดพืชที่แนะนำ ดังนี้
-
พืชไร่ จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดฝักสด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วเหลืองฝักสด และถั่วลิสง
-
พืชผัก จำนวน 30 ชนิด ได้แก่ พริก มะเขือ ผักชี ผักกาดหัว บวบ มะระจีน กระเพรา โหระพา กระเจี๊ยบเขียว ตะไคร้ หอมแดง ฟักทอง แตงกวา ผักบุ้งจีนในตะกร้า ชะอม ถั่วพู ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กวางตุ้ง คะน้า กุยช่าย ต้นอ่อนทานตะวัน ฟัก/แฟง แตงโม แคนตาลูป/เมล่อน แตงไทย การเพาะเห็ดถุง การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย และมันเทศ
-
สมุนไพร จำนวน 1 ชนิด ได้แก่ อัญชัน
-
ไม้ดอกไม้ประดับ จำนวน 2 ชนิด ได้แก่ ดาวเรือง อโกลนีมา