การจัดการดินและปุ๋ยในนาข้าว

การใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน : การเก็บตัวอย่างดินเพื่อการวิเคราะห์

        การใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกร ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นแม้ว่าในปัจจุบันมีการใช้ปุ๋ยในนาข้าวกันอย่างกง้างขวาง แต่ปริมาณการใช้ต่อพื้นที่ยังต่ำอยู่มาก    ส่วนใหญ่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้ผลการใช้ปุ๋ยยังไม่สามารถเพิ่มผลผลิตข้าวทั่วประเทศได้มากนัก


         กรมการข้าว ได้ดำเนินการค้นคว้าวิจัย การใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวเป็นระยะเวลายาวนาน จึงได้มีการปรับปรุงใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกร โดยจัดทำเป็นเอกสาร “แนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวตามค่าวิเคราะห์ดิน “ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องตามความต้องการของข้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่และลดต้นทุนการผลิต


         การกำหนดคำแนะนำการใช้ปุ๋ยในนาข้าวตามค่าวิเคราะห์ดินได้จากการทดสอบผลผลิตข้าวในแปลงเกษตรกร ในโครงการจัดเขตศักยภาพการผลิตข้าวที่ได้ดำเนินการในทุกภาคของประเทศ


การเก็บตัวอย่างดินเพื่อการวิเคราะห์

วัตถุประสงค์
         เพื่อประเมินปริมาณธาตุอาหารพืชที่สำคัญ ธาตุอาหารหลัก ได้แก่ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียมแมกนีเซียม และกำมะถัน หรือธาตุอาหารเสริมได้แก่ เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โบรอน โมลิบดีนั่ม ฯลฯ เพื่อใช้เป็นคำแนะนำในการใช้ปุ๋ยให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตามการเก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ จะต้องเป็นตัวแทนที่แท้จริงของดินให้พื้นที่นั้น ๆดังนั้น ผู้ที่เก็บตัวอย่างดินมาวิเคราะห์ต้องทราบถึงสภาพที่ที่เก็บ วิธีการเก็บและการเตรียมตัวอย่างดิน

เวลาที่เหมาะสมแก่การเก็บตัวอย่างดิน
         เวลาที่เหมาะสมที่สุด คือหลังการเก็บเกี่ยวข้าว หรือก่อนปลูกข้าวหนึ่งเดือน เป็นเวลาที่ดินมีความชันที่เหมาะสม การเก็บตัวอย่างดินที่ดีไม่ควรเก็บดินขณะแฉะหรือแห้งเกินไป เพื่อจะทำให้สะดวกในการใช้เครื่องมือและการคลุกดินให้เข้ากัน

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บตัวอย่างดิน

         1. สว่านเจาะดิน (soil auger) จะสว่านดินเหมาะสำหรับดินแข็งและดินที่มีความชื้นพอเหมาะ
         2. หลอดเจาะดิน (soil tube หรือ sampling tube) เหมาะสำหรับดินที่ไม่มีกรวดหินเจือปน ดินที่มีลักษณะเป็นดินเหนียวหรือดินร่วน มีความชื้นพอประมาณ จนถึงที่เปียก
         3. กระบอกเจาะ (core sampling) กระบอกเจาะเป็นเครื่องมือที่เหมาะสำหรับการเก็บตัวอย่างดิน เพื่อการวิเคราะห์หาคุณสมบัติทางกายภาพเวลาเจาะดินจะเข้าไปอยู่ในกระบอกบรรจุดินที่อยู่ปลายข้างที่เจาะ
         4. จอบเสียมเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการเก็บตัวอย่างดินโดยทั่วไป
         5. ถังพลาสติกและถุงพลาสติกและยางรัด

         ขนาดของแปลงที่เก็บตัวอย่างดิน ขนาดของแปลงที่จะเก็บตัวอย่างดิน ขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่ ชนิดของดิน ความลาดเอียงของพื้นที่ พื้นที่ที่สม่ำเสมอ 5-10 ไร่ ควรเก็บตัวอย่างดินอย่างน้อย 5-10 จุด แล้วรวมเป็น 1 ถุง ขนาด ประมาณ 1 กิโลกรัม

วิธีเก็บตัวอย่างดิน

         1. ใช้เครื่องเจาะให้ตั้งฉากกับผิวดินมากที่สุดบริเวณหลุมที่เจาะไม่ควรเป็นคอกสัตว์เก่า หลุม บ่อ หรือปุ๋ยตกค้างอยู่ ความลึกของดินประมาณ 15 ซม. 
         2. จำนวนหลุมที่เจาะในแปลงหนึ่ง ๆ นั้นในพื้นที่ 5-10 ไร่ ควรเจาะประมาณ 10 หลุมกระจายให้ทั่วใส่ในถึงพลาสติก แล้วรวมเป็น 1 ถุง น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ดังแผนผังที่แสดง ดังรูปที่ 1
ในกรณีที่ใช้เสียมหรือจอบ ให้ขุดหลุมเป็นรูปตัววี (V) ขนาดความกว้างเท่ากับหน้าจอบ/เสียม ลึกประมาณ 15 เซ็นติเมตร นำดินในหลุมออกให้หมดเอาปลายจอบ/เสียมวางลงที่ขอบหลุมด้านใดด้านหนึ่ง ที่มีหน้าตัดเรียบห่างจากขอบหลุมประมาณ 2 เซ็นติเมตร กดปลายจอบ/เสียมโดยแรง ให้ลึกประมาณ 15 เซ็นติเมตร แล้วงัดขึ้นมา หน้าดินจะติดมากับหน้าจอบ/เสียม ใช้มีดตัดดิน 2 ส่วนด้านข้างออก เหลือไว้แต่ตรงกลางประมาณ 3 เซ็นติเมตร (รูปที่ 2) แล้วใส่ถังพลาสติกที่สะอาดปราศจากปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีต่าง ๆ หลังจากเก็บทุกหลุมแล้ว ควรคลุกเคล้าให้เข้ากันดี เพื่อจะได้เป็นตัวแทนของดินในพื้นที่นั้น ๆ แล้วเก็บตัวอย่างดินใส่ถุงพลาสติกประมาณ 1 กิโลกรัม มัดปากถุงให้แน่นก่อนส่งไปวิเคราะห์

 

สถานที่วิเคราะห์ดิน

ส่งตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ในพื้นที่ที่อยู่ใกล้หรือจังหวัดใกล้เคียงได้แก่

1.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่

2. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก

3.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรกรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น

4. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรกรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี

5. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรกรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท

6. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี

7.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

8.สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา

9. ศูนย์วิจัยพืชทุกแห่งทั่วประเทศ

 

การจดบันทึก

การจดบันทึกตัวอย่างดินมีความสำคัญมาก จะช่วยป้องกันไม่ให้สับสนในการวิเคราะห์ได้ การจดบันทึกที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมีดังนี้

เจ้าของพื้นที่....................................................
ที่อยู่................................................................
ตัวอย่างที่...........................เก็บมาจากหมู่ที่..............ตำบล.................................
อำเภอ...................................................จังหวัด.................................................
ขนาดของพื้นที่ที่เก็บตัวอย่าง............................ไร่ ชนิดดิน..................................
ลักษณะของพื้นที่ ลาดเอียง ( ) สูง ๆ ต่ำ ( ) ราบเรียบ ( ) ลุ่ม ( )
ประวัติการปลูกพืช (บอกชื่อพืชที่ปลูก 2 ปีที่ผ่านมา ).............................................
วัน เดือน ปี ที่ใส่ .............................ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ อัตราที่ใช้.........................
พืชที่จะปลูกต่อไป..............................................................................................
ปัญหาต่าง ๆ (ถ้ามี)............................................................................................
ควรเขียนแผนที่ที่เก็บตัวอย่างดินโดยสังเขป บอกทิศทาง ถนน พื้นที่ใกล้เคียง