ระบบการผลิตข้าว

แมลงศัตรูข้าว และการป้องกันกำจัด

เพลี้ยไฟ

ลักษณะการทำลาย

เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็ก ยาว 1-2 มิลลิเมตร ตัวเต็มวัยมีสีดำ ทำลายข้าว  โดยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบข้าว ทำให้ปลายใบแห้ง ขอบใบม้วนเข้าหากัน  ถ้าระบาดมากทำให้ข้าวตายทั้งแปลง

ช่วงเวลาระบาด

  • ระยะกล้าในสภาพอากาศแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง                

การป้องกันกำจัด

  • ดูแลแปลงข้าวระยะกล้าอย่าให้ขาดน้ำ
  • เมื่อเกิดการระบาดของเพลี้ยไฟ ถ้ามีน้ำ ไขน้ำให้ท่วมยอดข้าว 1-2 วัน

 

แมลงบั่ว

ลักษณะการทำลาย

ตัวเต็มวัยของแมลงบั่วมีขนาดและรูปร่างคล้ายยุง แต่ลำตัวของแมลงบั่ว มีสีชมพูปนส้ม แมลงบั่วทำลายข้าวโดยตัวหนอนแทรกตัวเข้าไปอยู่ระหว่าง  ลำต้นกับกาบใบ และทำลายส่วนที่เป็นจุดเจริญของหน่อข้าว ต้นข้าวจะสร้างเนื้อเยื่อหุ้มตัวหนอนและเจริญเป็นหลอดคล้ายหลอดหอม ต้นที่เป็นหลอดไม่ออกรวง ถ้าการระบาดรุนแรง ต้นข้าวจะแตกกอมากแต่แคระแกรน

ช่วงเวลาระบาด

  • ตั้งแต่ระยะกล้าจนถึงแตกกอเต็มที่ สภาพที่ฝนตกชุก ความชื้นสัมพัทธ์สูง  (80-90 เปอร์เซ็นต์)
    การระบาดของแมลงบั่วจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การป้องกันกำจัด

  • ทำลายวัชพืชรอบแปลงนาเพื่อทำลายแหล่งอาศัยของแมลงบั่ว เช่น หญ้านกสีชมพู   หญ้าข้าวนก หญ้าไช หญ้าแดงและหญ้าชันกาด 
  • ปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรชีวิตของแมลงบั่ว
  • ใช้แสงไฟล่อตัวเต็มวัยและทำลาย

 

หนอนกอข้าว

ลักษณะการทำลาย

ในประเทศไทยหนอนกอข้าวมี 4 ชนิด คือ หนอนกอสีครีม หนอนกอแถบลาย หนอนกอหัวดำ    และหนอนกอสีชมพู หนอนกอทั้ง 4 ชนิด ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน มักพบบินมาเล่นแสงไฟเวลากลางคืน ผีเสื้อหนอนกอสีครีมตรงกลางปีกคู่หน้ามีจุดสีดำข้างละจุด ตัวหนอนสีขาวหรือสีครีม ผีเสื้อของหนอนกอแถบลายและหนอนกอหัวดำ มีลักษณะคล้ายกันมาก แต่สามารถดูความแตกต่างระยะหนอน ตัวหนอนของหนอนกอแถบลาย หัวมีสีน้ำตาลอ่อน ส่วนหนอนกอหัวดำ หัวมีสีดำตามชื่อที่เรียก ส่วนผีเสื้อ หนอนกอสีชมพู มีลำตัวอ้วนสั้น ส่วนหัวและลำตัวมีขนหนาปกคลุม ตัวหนอนมีสีเหลืองหรือชมพูปนม่วง

หนอนกอทั้ง 4 ชนิดทำลายต้นข้าวเหมือนกัน คือ ตัวหนอนกัดกินภายในลำต้นข้าว ในข้าวที่ยังเล็กหรือข้าว      ที่กำลังแตกกอจะเกิดอาการ “ยอดเหี่ยว” และแห้งตาย หากหนอนกอทำลายระยะข้าวตั้งท้อง หรือหลังจากนั้น ทำให้รวงข้าวมีสีขาว เมล็ดลีบทั้งรวง เรียกว่า “ข้าวหัวหงอก” รวงข้าวที่มีอาการดังกล่าว  จะดึงหลุดออกมาได้ง่าย 

ช่วงเวลาระบาด

  • ตั้งแต่ต้นข้าวยังเล็ก ระยะข้าวตั้งท้องถึงระยะออกรวง

การป้องกันกำจัด

  • เผาตอซังหลังเก็บเกี่ยว ให้น้ำท่วมนา และไถดินทำลายดักแด้ และหนอนที่อยู่ตามตอซัง
  • ปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรชีวิตของหนอนกอ
  • ใช้แสงไฟล่อผีเสื้อหนอนกอข้าวและทำลาย 
  • เมื่อพบการระบาดมาก ใช้สารสกัดจากพืช เช่น สะเดา หางไหล ยี่โถ  ผกากรอง ฉีดพ่นป้องกันกำจัด

 

หนอนห่อใบข้าว

ลักษณะการทำลาย

ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน หนอนมีสีเขียวใสปนเหลือง หัวสีน้ำตาล ทำลายใบข้าวโดยตัวหนอนจะใช้ใยเหนียวจากปากยึดขอบใบข้าวสองข้างติดกันตามความยาวของใบหุ้มตัวหนอนไว้ และอาศัยแทะกินส่วนที่เป็นสีเขียวของใบข้าว  จนเหลือแต่เยื่อบาง ๆ เป็นทางสีขาวไปตามความยาวของใบ การทำลายจะรุนแรง มากในแปลงที่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูงหรืออยู่ในร่มเงาไม้ใหญ่ ใบข้าวถูกทำลาย       

ในระยะข้าวตั้งท้องอาจทำให้เมล็ดข้าวลีบ การป้องกันกำจัดในระยะข้าวแตกกอมีผลให้มีการทำลายในระยะข้าวตั้งท้องน้อยลง

ช่วงเวลาระบาด

  • ตั้งแต่เริ่มปักดำใหม่ ๆ จนถึงระยะออกรวง

การป้องกันกำจัด

  • ทำลายพืชอาศัยในนาข้าวและบริเวณใกล้เคียง เช่น หญ้าข้าวนก หญ้านกสีชมพู หญ้าไช หญ้าชันกาด และข้าวป่า
  • เมื่อพบการระบาดมาก ใช้สารสกัดจากพืช เช่น หางไหล ยี่โถ ขมิ้นชัน ฉีดพ่นป้องกันกำจัด
  • จัดการสมดุลธาตุอาหารพืช โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน