ปากะญอหรือกะเหรี่ยง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยรวมตัวกันอย่างหนาแน่นในพื้นที่ป่าเขาทางทิศตะวันตกของประเทศไทยตามบริเวณชายแดนไทย-พม่า ปากะญอได้เคลื่อนย้ายมาทางทิศตะวันออกประมาณ 200 ปีที่ผ่านมา ปากะญอในประเทศไทยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ คือ สะกอ และโป จัดอยู่ในกลุ่มพม่า-ธิเบต ชาวปากะญอตั้งถิ่นฐานอยู่ตามบริเวณหุบเขา ในระดับความสูงประมาณ 500 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ดำรงชีพด้วยการปลูกข้าวและผักต่าง ๆ โดยการทำนาดำและการทำข้าวไร่แบบหมุนเวียน (กลับมาทำที่เดิมทุก 5-10 ปี) นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงหมู ไก่ วัว ควาย และช้าง เพื่อเป็นอาหารและทำพิธีกรรม นอกจากนั้นยังดำรงชีพด้วยการขายและรับจ้างใช้แรงงาน
แต่เดิมครอบครัวปาเกาะญอยึดถือการสืบเชื้อสายสืบทอดมาทางฝ่ายหญิงเป็นหลัก เมื่อมีการแต่งงานเกิดขึ้นฝ่ายชายจะย้ายไปอาศัยอยู่ในครอบครัวฝ่ายหญิง ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความสะดวกของแต่ละฝ่าย ครอบครัวเป็นครอบครัวเดียวและถือระบบผัวเดียว-เมียเดียว ปากะญอที่นับถือศาสนาพุทธจะมีการนับถือลัทธิบูชาผีร่วมด้วย ซึ่งแตกต่างจากปากะญอที่นับถือศาสนาคริสต์
สภาพพื้นที่ของข้าวนาที่สูงมีลักษณะพิเศษบางอย่าง คือ พื้นที่นาเป็นลักษณะแบบขั้นบันไดอย่างชัดเจน ความกว้างของกระทงนาขึ้นกับสภาพความลาดชันของพื้นที่และคันนามีความสูงแตกต่างจากนาพื้นราบ อยู่ระหว่างหุบเขา อาศัยน้ำฝนและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ มีการใช้ปัจจัยการผลิตค่อนข้างต่ำ ผลผลิตมีความแปรปรวนสูงโดยเฉลี่ย 200-600 กิโลกรัม/ไร่ พื้นที่ถือครอง 2-20 ไร่/ครัวเรือน ส่วนใหญ่ผลิตไม่พอเพียงกับการบริโภค ขึ้นอยู่กับผลผลิต พื้นที่ถือครองและขนาดของครัวเรือน
พันธุ์ข้าว
ข้าวภาษาปากะญอใช้คำว่า “บือ” พันธุ์ที่ปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิมที่ผ่านการคัดเลือก โดยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษเป็นมรดกสืบทอดกันมา ค่อนข้างมีความหลากหลายทางชีวภาพ การตัดสินใจในการเลือกใช้พันธุ์แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคลและท้องถิ่น ขึ้นอยู่กับปัจจัยบางอย่าง เช่น คุณภาพการหุงต้ม ผลผลิต ลักษณะและรูปร่างเมล็ด ทรงต้นข้าว สภาพนิเวศน์ของพื้นที่นา สภาพแวดล้อม รวมทั้งความเชื่อต่าง ๆ ส่วนใหญ่บริโภคข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก ได้แก่ พันธุ์บือโปะโละ บือพะทอ บือกิ บือพะโด่ะ บือแม้ว บือกิโพ บือกวา บือกอ บือพึ บือมูโป๊ะ บือเนอมู บือซอมี บือโซ ฯลฯ นอกจากข้าวเจ้ายังมีพันธุ์ข้าวเหนียว เช่น บือปิอีจอวะ บือปิอีปอซี แต่ปลูกกันเพียงเล็กน้อย
การเตรียมเมล็ดพันธุ์
ก่อนนำเมล็ดพันธุ์ไปตกกล้า จะใช้กระด้งฝัดทำความสะอาดเพื่อแยกเมล็ดดีและเมล็ดลีบออกจากกัน รวมถึงเมล็ดวัชพืชซึ่งอาจติดไปกับเมล็ดพันธุ์ อัตราเมล็ดพันธุ์ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อพื้นที่ปักดำ 1 ไร่
การเตรียมแปลงกล้าและการตกกล้า
เริ่มดำเนินการระหว่างกลางเดือนพฤษภาคม - ต้นเดือนมิถุนายน ขึ้นอยู่กับว่าฝนมาช้าหรือเร็ว และปริมาณน้ำเป็นหลัก การตกกล้ามี 2 วิธี
วิธีที่หนึ่งเรียกว่ากล้าบกหรือกล้าดอย แปลงนาที่ปริมาณน้ำไม่พอเพียงสำหรับการเตรียมแปลงกล้านิยมใช้วิธีนี้ซึ่งอาศัยน้ำฝนเป็นหลักเพื่อช่วยในการงอกของเมล็ดพันธุ์ข้าวและให้ความชุ่มชื้นแก่ต้นกล้า การเตรียมแปลงกล้าจะเลือกพื้นที่สภาพไร่ใกล้ๆ แปลงนา แผ้วถางเผากำจัดวัชพืชและเตรียมดินเหมือนการปลูกข้าวไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวแห้งหว่านลงในแปลงกล้าใช้ดินหรือฝุ่นกลบบางๆ บางแห่งใช้เสียมด้ามยาวขุดดินเป็นหลุมระยะถี่ๆ ประมาณ 5 เซนติเมตร ลึก 2-3 เซนติเมตร ระหว่างแถวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ขวางไปกับความลาดชันของพื้นที่ จากล่างขึ้นบน โรยเมล็ดข้าวแห้งเป็นแถว เมล็ดจะถูกกลบโดยดินที่เกิดจากการขุดหลุมในแถวด้านบน และการตกของฝนจะช่วยในการกลบเมล็ดได้อีกระดับหนึ่ง
วิธีที่สองคือกล้าน้ำหรือการตกกล้าในแปลงนา จะเลือกกระทงนาที่อยู่ด้านบนซึ่งง่ายต่อการระบายน้ำเข้าออก เตรียมดินเหมือนแปลงปักดำ แต่ขุดร่องระบายน้ำรอบๆ กระทงนา ทำการหว่านเมล็ดข้าวแห้งลงบนแปลงกล้าที่เปียก แล้วปล่อยน้ำเข้าขังแช่เมล็ดพันธุ์ทิ้งไว้ 2-3 วัน จากนั้นระบายน้ำทิ้ง เมล็ดที่ไม่สมบูรณ์จะไหลออกไปตามน้ำ แต่บางแห่งก็ใช้วิธีนำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำประมาณ 2-3 วัน หุ้มไว้ 1 วัน เมื่อเมล็ดงอกเป็นตุ่มตาจึงนำไปหว่านในแปลงกล้า ข้อแตกต่างของการตกกล้าแต่ละวิธี กล้าบกหรือกล้าดอย ต้นกล้าโตเร็วแข็งแรง ระบบรากดี ถอนง่าย ตั้งตัวเร็วหลังปักดำ เจริญเติบโตดี อายุเบากว่า เมล็ดข้าวที่ได้มีความสมบูรณ์ ผลผลิตสูง ข้อเสียใช้อัตราเมล็ดพันธุ์และพื้นที่ในการเตรียมแปลงกล้ามากกว่ากล้าน้ำ อายุกล้าสำหรับปักดำ กล้าดอย 25-30 วัน กล้าน้ำ 30-45 วัน
วิธีการปักดำ
การเตรียมแปลงปักดำ ปัจจุบันการใช้แรงงานจากสัตว์ได้ลดลง รถไถเดินตามได้เข้ามามีบทบาทเป็นเวลาประมาณ 20 ปี ที่ผ่านมา ทำการไถดะ (ไถรอฝน) ตากดินและหมักทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ ไถแปรและไถคราดปรับผิวดินให้สม่ำเสมอ บางพื้นที่แปลงนาอยู่ไกลและความกว้างกระทงนามีขนาดเล็ก รถไถไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้จะใช้จอบขุดในการเตรียมแปลงปักดำ ระยะปักดำ 25x25, 30x30 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยยึดหลักดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่าง (ถี่สุด 15 เซนติเมตร ห่างสุด 45 เซนติเมตร) ปักดำจับละ 4-6 ต้น
การดูแลรักษา
ในด้านการปรับปรุงดิน ปากะญอจะปล่อยสัตว์เลี้ยงเข้าไปในแปลงนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยปกติทั่วไปไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีแต่การส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเข้าไปในพื้นที่มีส่วนทำให้เกิดมีการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าว หลังปักดำหากข้าวตั้งตัวจะระบายน้ำออกจากแปลงนาทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน หรือจากการสังเกตต้นข้าวมีใบสีเขียวขึ้นกว่าเดิมจะระบายน้ำเข้าไปในแปลงนาใหม่ ควบคุมระดับน้ำในแปลงนาประมาณ 5-10 เซนติเมตร กำจัดวัชพืชโดยใช้มือถอนและสารกำจัดวัชพืช ส่วนใหญ่ไม่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง บางแห่งนำเปลือกไม้ประดู่มาแช่น้ำแล้วเทราดบริเวณต้นข้าวที่เป็นโรค สำหรับสัตว์ศัตรู เช่น หนู นิยมใช้กับดักจับเพื่อนำมาเป็นอาหาร
วิทยาการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว
เก็บเกี่ยวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-เดือนธันวาคม ก่อนการเก็บเกี่ยวจะระบายน้ำออกจากแปลงนาประมาณ 2 สัปดาห์ ใช้เคียวในการเกี่ยวข้าว มัดเป็นฟ่อนขนาดกำมือโดยใช้ตอกหรือใบข้าวที่ติดกับส่วนของลำต้น (เกี่ยวพันกำ) ตากไว้บนตอซัง ทิ้งไว้ 3-4 แดด นำมากองรวมตรงลานนวด ส่วนใหญ่นวดโดยใช้แรงงานคน เคยพบมีการใช้เครื่องนวดขนาดเล็กแบบจีนทำความสะอาด
เมล็ดและบรรจุลงกระสอบ ๆ ละประมาณ 25-30 กิโลกรัม เก็บผลผลิตเข้ายุ้งฉางโดยใช้แรงงานคน แรงงานสัตว์ (วัว ช้าง) ปัจจุบันมีการใช้รถมอเตอร์ไซค์ หรือรถยนต์บรรทุก ชาวกะเหรี่ยงบางรายคัดเลือกกระทงนาที่ข้าวเจริญเติบโตดี เมล็ดสมบูรณ์ รอให้สุกแก่เต็มที่จึงจะเก็บเกี่ยวเมล็ดไว้ทำพันธุ์ บางรายปลูกข้าวมากกว่า 2 พันธุ์ จะแยกเมล็ดพันธุ์เก็บไว้ต่างหาก ที่เหลือจะนำมาปนกันเพื่อเก็บไว้บริโภค
การแปรรูปและผลิตภัณฑ์
การแปรรูปเป็นข้าวสาร ใช้ครกกระเดื่องหรือเรียกว่า “การตำข้าว” ในการตำข้าวจะนำเมล็ดข้าวมาตากแดดให้แห้งก่อนประมาณ 1 วัน เพื่อให้เมล็ดข้าวสารกะเทาะออกจากเปลือกได้ง่ายขึ้นและหักน้อย แล้วใช้กระด้งฝัดแยกแกลบออกอีกครั้งหนึ่ง บางท้องถิ่นมีโรงสีขนาดเล็กสำหรับสีข้าว ปริมาณข้าวสารที่ได้จะมากกว่าข้าวที่ได้จากการตำ ข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวใช้วิธีการหุงโดยวิธีไม่เช็ดน้ำ ชาวปากะญอให้ความคิดเห็นว่า ข้าวที่สีจากโรงสีบริโภคแล้วอิ่มช้า นอกจากนี้ยังมีการใช้ข้าวแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ ได้แก่ สุราพื้นบ้าน ข้าวต้มมัด ข้าวปุ๊ ฯลฯ
ความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม เกี่ยวกับข้าว
การเลี้ยงผีน้ำผีฝาย การเลี้ยงเจ้าที่นา พิธีสู่ขวัญควาย พิธีแยกข้าว ประเพณีกินข้าวใหม่
|
|
ก่อนปักดำ มีการเลี้ยงผีน้ำผีฝาย
|
หลังปักดำ มีการเลี้ยงเจ้าที่นา
|
|
|
หลังเก็บเกี่ยว มีการเรียกขวัญข้าว
|
|