การปลูกและดูแลรักษา

วิธีปลูกข้าวที่สูง

 ข้าวที่สูง ข้าวบนพื้นที่สูง หรือข้าวดอย มีลักษณะการปลูก 2 แบบ คือ การปลูกแบบสภาพไร่ หรือที่เรียกว่าข้าวไร่ ปลูกตามไหล่เขา ไม่มีคันนาสำหรับเก็บกักน้ำในแปลงปลูก ส่วนมากมักเตรียมดินโดยการถางวัชพืชหรือพืชอื่นออกก่อนแล้วเตรียมดิน หลังจากนั้นจึงทำการปลูกข้าว พื้นที่ปลูกข้าวไร่ส่วนใหญ่มักมีความลาดชันตั้งแต่ 5-60 องศา อาศัยความชื้นในการเจริญเติบโตจากน้ำฝนเพียงอย่างเดียว และอีกสภาพหนึ่งคือการปลูกในสภาพนา โดยเริ่มต้นตั้งแต่เตรียมดิน ตกกล้า ไถ คราด ทำเทือก และปักดำ ดังเช่นการทำนาพื้นราบทั่วไป พื้นที่ปลูกจะอยู่ระหว่างหุบเขา มีการทำคันนาสำหรับกักเก็บน้ำ ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะนาขั้นบันได

        การกำหนดพื้นที่สูงนั้นจะทำการกำหนดพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (above mean sea level) ตั้งแต่ 700 เมตร ขึ้นไป ให้เป็นพื้นที่สูง หรือสังเกตจากธรรมชาติ จากการเจริญเติบโตของพันธุ์ไม้บนพื้นที่ดอยหรือภูเขา โดยสังเกตจากไม้ป่า เช่น สัก เต็ง รัง และพลวง ซึ่งพันธุ์ไม้เหล่านี้จะสามารถเจริญเติบโตได้ในพื้นราบ จนถึงพื้นที่ที่มีความสูงประมาณ 700-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล เหนือขึ้นไปจะมีพันธุ์ไม้ประเภทสน ซึ่งเป็นไม้ที่ขึ้นได้ดีในเขตอบอุ่นหรือเขตหนาว ขึ้นปะปนกับพันธุ์ไม้อื่น ๆ สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจน

        สำหรับการปลูกข้าวบนที่สูงมีขั้นตอนการปลูกที่อาจแตกต่างจากการปลูกข้าวบนพื้นที่ราบทั่ว ๆ ไป โดยมีขั้นตอนการปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. การเตรียมพื้นที่
        การเตรียมพื้นที่ปลูกข้าวบนที่สูงจะเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยเฉพาะการปลูกข้าวไร่ จะเริ่มถางกำจัดวัชพืชนำออกไปไว้ข้างแปลงหรือวางเป็นแนวขวางทางลาดชันเพื่อดักตะกอนดิน ไม่แนะนำให้เผาเศษซากพืช ถ้าในพื้นที่ที่มีหินสามารถนำไปขวางลาดชันดักตะกอนดิน และทำให้เกิดลักษณะขั้นบันไดในระยะต่อไป พื้นที่ที่มีความลาดชันสูงไม่ควรไถเพราะจะทำให้เร่งการชะล้างหน้าดินเมื่อฝนตก การเตรียมพื้นที่จะทำ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในเดือนมีนาคม ครั้งที่สองในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม การเตรียมพื้นที่ครั้งที่สองเป็นการเตรียมแบบประณีตเพื่อปลูกข้าว ส่วนข้าวนาที่สูงจะเริ่มเตรียมดินตกกล้าในเดือนพฤษภาคม มีการเตรียม 2 แบบ คือ เตรียมดินเพื่อตกกล้าสภาพไร่ โดยการถางวัชพืชออกแล้วสับดินให้ละเอียดก่อนหว่านเมล็ดข้าวลงไป และเตรียมดินเพื่อตกกล้าสภาพนาที่มีน้ำขัง เริ่มจากหลังที่ฝนตกมีน้ำขังในนาอยู่บ้าง มีการไถคราด ทำเทือก ยกร่องเป็นแปลงขนาดเล็กกว้าง 1-1.5 เมตรความยาวตามพื้นที่ มีร่องระบายน้ำ แล้วหว่านเมล็ดข้าวที่หุ้มให้งอกแล้วลงบนแปลงเพาะ ดังเช่นการตกกล้าสำหรับการทำนาบนพื้นราบทั่วไป

2. การเตรียมเมล็ดพันธุ์และพันธุ์
        ข้าวที่สูงหรือข้าวดอยเป็นพันธุ์ข้าวที่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้ดีกว่าข้าวที่ปลูกในพื้นที่ราบทั่วไป เช่น ทนต่อสภาพอากาศเย็น ต้านทานต่อโรคไหม้ เป็นต้น เมล็ดข้าวที่จะนำไปปลูกต้องมาจากแหล่งที่สามารถเชื่อถือได้ เช่น ไม่มีโรคแมลง สะอาด ไม่มีสิ่งเจือปน และควรมีความงอกไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 สำหรับความบริสุทธิ์ (purity) ของเมล็ดพันธุ์นั้น ในข้าวนา จะมีความบริสุทธิ์ของพันธุ์มากกว่าข้าวไร่ เนื่องจากข้าวไร่มีสภาพการปลูกบนดินที่ไม่มีน้ำขังในแปลงปลูก แปลงหนึ่ง ๆ อาจพบความหลากหลายทางพันธุกรรม (genitic diversity) ของข้าวที่ปลูกในแปลงนั้น ๆ ได้ ทั้งนี้เนื่องจากการปลูกข้าวในสภาพไร่นั้นมักจะประสบปัญหามากกว่าข้าวนา เช่น ความแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง อากาศหนาวเย็น โรคไหม้ แมลง และ วัชพืช เป็นต้น โดยทั่วไปแล้วข้าวบนพื้นที่สูงมักมีอายุการออกดอก แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

        2.1 ข้าวอายุเบา จะออกดอกประมาณต้นเดือนกันยายน ส่วนใหญ่จะพบในข้าวไร่มากกว่า ข้าวนา เช่น พันธุ์ อาร์ 258

        2.2 ข้าวอายุกลาง ออกดอกประมาณกลางเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม จะพบมากที่สุดทั้งข้าวนา และข้าวไร่ ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเล ข้าวอายุปานกลางที่เป็นข้าวไร่ ได้แก่ เจ้าลีซอสันป่าตอง เจ้าขาวเชียงใหม่ และลาซอ เป็นต้น ส่วนข้าวนา ได้แก่ ข้าวหลวงสันป่าตอง บือพะทอ บือโปะโละ และบือพะโด่ะ เป็นต้น

        2.3 ข้าวอายุหนัก เป็นข้าวที่ออกดอกในช่วงปลายเดือนตุลาคม พื้นที่ส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นที่สูงกว่า 1,200 เมตรจากระดับน้ำทะเลซึ่งมีความชื้นจากฝนและหมอกที่ตกในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน ซึ่งในเขตที่ต่ำกว่าปริมาณฝนเริ่มลดลง ข้าวที่มีอายุหนักส่วนมากจะทนต่อความหนาวเย็นได้ดีกว่าพันธุ์อื่น และเป็นข้าวไร่ เช่น พันธุ์น้ำรู ขี้ช้าง งาช้าง เวตาโม เบล้ไช่ ดามูดะ เป็นต้น

         อย่างไรก็ตาม ข้าวทุกพันธุ์สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ราบทั่วไป แต่จะมีอายุการออกดอกที่เร็วขึ้น ลำต้นสูงกว่าปลูกบนที่สูงและผลผลิตลดลง ในขณะเดียวกันหากนำข้าวที่ขึ้นได้ในระดับที่ต่ำกว่า ไปปลูกบนที่สูงจะมีผลกระทบต่อผลผลิต เช่น ไม่ออกรวง หรือออกรวงแล้วผสมไม่ติด ดังนั้นการเตรียมเมล็ดข้าวที่จะปลูก ควรใช้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่จะปลูกด้วย

3. วิธีปลูก
        เนื่องจากข้าวที่สูงมีสภาพนิเวศน์ทั้งข้าวไร่และข้าวนา ที่มีวิธีการปลูกแตกต่างกัน ดังนี้

        3.1 ข้าวไร่ (upland rice) ใช้วิธีการปลูกเมล็ดข้าวแห้ง (direct seeding) ซึ่งแบ่งได้ 3 วิธี

                3.1.1 การปลูกแบบหยอดเป็นหลุม (drilling) เป็นวิธีการปลูกโดยใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งดินให้เป็นหลุมลึก 2-3 เซนติเมตร หรือใช้เสียมที่ต่อด้ามยาว ขุดดินให้เป็นหลุมเล็ก ๆ ลึก 2-3 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างหลุม 25-30 เซนติเมตร แล้วหยอดเมล็ดข้าวลงไปในหลุมๆ ละ 5-8 เมล็ด หากพื้นที่ปลูกมีความลาดชันไม่ควรกลบหลุม เพราะจะทำให้มีดินกลบหลุมปลูกแน่นเกินไปเมื่อมีฝนตก แต่ในพื้นที่ปลูกที่มีความลาดชันน้อยกว่า 5 องศา ให้ใช้กิ่งไม้ลากผ่านหลุมที่หยอดเมล็ดแล้วเป็นการกลบหลุม การปลูกแบบหยอดเป็นหลุมเป็นวิธีที่เกษตรกรนิยมมากที่สุด เนื่องจากง่ายต่อการกำจัดวัชพืชและดูแลรักษา เป็นวิธีการที่พบเห็นได้ทั่วไป การปลูกแบบนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์ไร่ละ 6-8 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าการนำเมล็ดพันธุ์ข้าวแช่น้ำ 12 ชั่วโมง ผึ่งลมให้หมาดแล้วนำไปหยอดในดินที่มีความชื้น ทำให้ข้าวงอกเร็วและออกดอกเร็วกว่าการหยอดเมล็ดข้าวแห้ง 2-3 วัน ทั้งยังให้ผลผลิตสูงอีกด้วย 
 

                3.1.2 การปลูกแบบโรยเป็นแถว (row drilling) การปลูกวิธีนี้ต้องมีการเตรียมดินให้ประณีต โดยให้หน้าดินเรียบสม่ำเสมอกันดี แล้วใช้ไม้หรือคราดขีดเปิดดินให้เป็นร่อง ระยะห่างของร่องหรือแถวประมาณ 25-30 เซนติเมตร แล้วโรยเมล็ดข้าวทันที การโรยควรโรยให้เมล็ดข้าวสม่ำเสมอกัน เพื่อให้ต้นข้าวที่งอกไม่กระจุกแน่นที่ใดที่หนึ่ง หากพื้นที่มีความลาดชันควรทำร่องให้ขวางความลาดชัน เพื่อช่วยให้ต้นข้าวดักตะกอนดินที่ไหลลงมาเมื่อฝนตก การปลูกวิธีนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์ไร่ละ 10-15 กิโลกรัม

                3.1.3 การปลูกแบบหว่าน (broadcasting) เหมาะสมกับพื้นที่ที่มีความลาดชันน้อยหรือที่ราบ การเตรียมดินควรสับดินให้ละเอียดหรือเป็นก้อนเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ปรับผิวหน้าดินให้สม่ำเสมอกัน แล้วหว่านเมล็ดข้าวลงไป และควรคราดหรือกลบเมล็ดข้าวหลังหว่านเพื่อให้เมล็ดข้าวได้รับความชื้นจากดิน ป้องกันนกและแมลงศัตรูข้าว การปลูกวิธีนี้จะใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณไร่ละ 15 กิโลกรัม


        3.2 ข้าวนาที่สูง (highland paddy rice) มีวิธีการปลูกได้ 2 แบบ คือ นาดำ (transplanting) และนาหว่าน (direct seeding)
                 3.2.1 นาดำ (transplanting) มีการปฏิบัติเช่นเดียวกับนาดำพื้นราบทั่วไป แต่จะเริ่มตกกล้าและปักดำเร็วกว่า เพื่อหลีกเลียงอากาศหนาวจัดในช่วงข้าวออกรวง โดยเริ่มตกกล้าตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมถึงวันที่ 20 พฤษภาคม กลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มจะยึดเอาวันพืชมงคลเป็นวันเริ่มต้นตกกล้า ซึ่งส่วนใหญ่จะมีฝนเริ่มตกหรือเข้าสู่ฤดูฝน โดยมีขั้นตอนดังนี้
                         3.2.1.1 การตกกล้า สำหรับข้าวนาที่สูงจะมีอยู่ 2 แบบ คือ ตกกล้าสภาพไร่และสภาพนา หลังจากนั้นจึงเตรียมดินและนำต้นกล้าไปปักดำต่อไป
                               - การตกกล้าสภาพไร่ (dryland seeding method) เริ่มจากการเตรียมดินตามที่ลาดเชิงเขา โดยกำจัดวัชพืชออก ย่อยดินให้ละเอียด หว่านเมล็ดข้าวหรือใช้ไม้ขีดเป็นร่องลึก 2-3 เซนติเมตรแล้วโรยเมล็ดข้าว หรือใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งดินให้เป็นหลุมลึก 2-3 เซนติเมตร หยอดเมล็ดข้าวกลบดินบางๆเพื่อป้องกันสัตว์ศัตรู เมื่อเมล็ดข้าวได้รับความชื้นจากดินจะงอกเป็นต้นกล้า การตกกล้าโดยวิธีนี้ใช้เมล็ดพันธุ์ตารางเมตรละ 50-60 กรัม เกษตรกรนิยมปฏิบัติและเชื่อว่าสามารถยืดอายุกล้าเมื่อเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงก่อนปักดำ
                              - การตกกล้าสภาพนาหรือในแปลงที่มีน้ำขัง (wetland seeding method) ปฏิบัติเช่นเดียวกับการตกกล้าในการทำนาพื้นราบ กล่าวคือ ไถเมื่อมีน้ำขังในกระทงนา คราด ทำเทือก ยกร่องเป็นแปลง กว้าง 1-1.5 เมตร ยาวตามความยาวกระทงนา แล้วหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการแช่น้ำ 24-48 ชั่วโมง และหุ้ม 24-48 ชั่วโมง หรือพอมีรากงอกประมาณ 1 เซนติเมตรลงบนแปลง ขังน้ำบริเวณรอบแปลงกล้าโดยไม่ให้ท่วมหลังแปลงจนกระทั่งกล้าอายุ 1 เดือนจึงถอนไปปักดำ การตกกล้าโดยวิธีนี้ใช้เมล็ดพันธุ์ตารางเมตรละ 50 กรัม แต่เกษตรกรไม่นิยม เพราะเชื่อว่าไม่สามารถยืดอายุกล้าได้เมื่อเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงก่อนปักดำ และทำยากกว่าการตกกล้าสภาพไร่

                        3.2.1.2 การเตรียมดิน ไถเมื่อมีน้ำขังในกระทงนา แล้วทิ้งไว้ 2-4 สัปดาห์ ในช่วงเวลานั้นเกษตรกรจะเตรียมซ่อมแซมคันนา กำจัดวัชพืช และดูแลแปลงกล้าควบคู่ไปด้วย หลังจากนั้นจะเริ่มคราดและทำเทือก ปักดำทันทีหลังทำเทือกเสร็จ ทั้งนี้เพราะสภาพดินในนาบนที่สูงส่วนใหญ่จะเป็นดินร่วนปนทราย (sandy loam) หากทิ้งไว้นานจะแน่นทำให้ยากต่อการปักดำ ในช่วงก่อนการเตรียมดิน เกษตรกรสามารถใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์อื่น ๆ เพื่อปรับปรุงดินนา แต่ไม่ควรใช้ปุ๋ยเคมีเพราะนาบนที่สูงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้เหมือนนาพื้นราบ เนื่องจากสภาพนาที่สูงมีน้ำไหลผ่านแปลงนาตลอดฤดู หากกักขังน้ำไว้จะทำให้คันนาซึ่งเป็นดินร่วนปนทรายถูกน้ำกัดเซาะและธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมีจะไหลตามน้ำลงสู่เบื้องล่าง ไม่คุ้มกับการลงทุนและเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตโดยการพึ่งปัจจัยการผลิตจากภายนอกชุมชน ทำให้เป็นการทำนาแบบไม่ยั่งยืน

                        3.2.1.3 การปักดำ (transplanting) ควรปักดำเมื่อกล้าอายุ 30 วัน แล้วมัดเป็นกำ ขนย้ายไปแปลงปลูก การปักดำข้าวนาที่สูงมักมีการลงแขก ไม่มีการจ้างแรงงานปักดำ โดยปักดำจับละ 5-8 ต้น เพราะข้าวนาที่สูงเป็นพันธุ์พื้นเมือง แตกกอน้อย และยังไม่พบว่ามีพันธุ์ผสมพันธุ์ใดสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและเป็นที่ยอมรับของเกษตรกร นอกจากนำพันธุ์พื้นเมืองมาคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ (pure line selection) เท่านั้น ระยะระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร โดยมีระดับน้ำในนาลึก 5-7 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ฝ่ามือ

                3.2.2 นาหว่าน (direct seeding) ทำได้ 2 แบบ คือ หว่านข้าวแห้ง และหว่านข้าวงอกหรือหว่านน้ำตม

                        3.2.2.1 หว่านข้าวแห้ง (direct seeding) เริ่มจากการเตรียมดินต้นเดือนพฤษภาคม โดยไถดินแห้งหรือดินหมาด 1 ครั้ง คราดเอาวัชพืชออก หว่านเมล็ดข้าวแล้วคราดกลบอีกครั้ง เมล็ดข้าวจะงอกเมื่อมีความชื้นเพียงพอหรือฝนตก การปลูกวิธีนี้ใช้เมล็ดพันธุ์ไร่ละ 15 กิโลกรัม

                        3.2.2.2 หว่านข้าวงอกหรือหว่านน้ำตม (pre-germinated broadcasting) ต้องมีการ เตรียมดินที่ดี เมื่อมีน้ำขังในนาแล้ว ไถทิ้งไว้ 2-4 สัปดาห์ แล้วคราด ทำเทือกจนเป็นเลนนุ่ม หน้าดินเรียบสม่ำเสมอ ระบายน้ำออกจากแปลง หว่านเมล็ดข้าวที่แช่น้ำ 24-48 ชั่วโมงและหุ้ม 24-48 ชั่วโมง หรือพอมีรากงอกยาว 2-3 มิลลิเมตร หว่านอัตราไร่ละ 8-12 กิโลกรัม เมื่อต้นข้าวสูง 5-7 เซนติเมตร ทดน้ำเข้าแปลง ให้ระดับน้ำสูง 2-3 เซนติเมตร เมื่อข้าวตั้งตัวได้ดีจึงเพิ่มระดับน้ำให้สูง 5-7 เซนติเมตร

        อย่างไรก็ตามเกษตรกรบนที่สูงไม่นิยมปลูกโดยวิธีหว่าน ทั้งนี้เพราะไม่มั่นใจปริมาณของน้ำฝนที่ตกลงมา ซึ่งอาจทิ้งช่วงจนเกิดสภาวะแห้งแล้ง หรืมากจนไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทัน จนทำให้น้ำท่วมไหลบ่าพัดพาเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่หว่านไว้เสียหาย