การปลูกและดูแลรักษา

พันธุ์ข้าวที่สูง

        ข้าวที่สูงมีทั้งข้าวที่ปลูกในสภาพนาและสภาพไร่ กล่าวคือ การปลูกในสภาพนาที่มีน้ำขัง จะมีการทำคันนาเพื่อกักเก็บน้ำคล้ายกับการทำนาในพื้นที่ราบทั่วไป ๆ เพียงแต่จะมีกระทงนาขนาดเล็กเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ราบระหว่างหุบเขา มีเนื้อที่ไม่กว้างมากนัก ส่วนการปลูกในสภาพไร่ เป็นการปลูกในที่ดอนหรือ บริเวณไหล่เขา ไม่มีน้ำขัง ไม่มีการทำคันนาเพื่อกักเก็บน้ำ พันธุ์ข้าวที่สูงที่เกษตรกรปลูกมีทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว โดยทั่วไปชุมชนบนพื้นที่สูงมักจะปลูกข้าวเจ้าเพื่อบริโภคเป็นอาหารหลัก และปลูกข้าวเหนียวเพื่อใช้ในพิธีกรรมและแปรรูป ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นข้าวไวต่อช่วงแสง ปลูกได้เฉพาะนาปี มีส่วนน้อยที่ไม่ไวต่อช่วงแสง 
        พันธุ์ข้าวที่เกษตรกรนิยมปลูกโดยทั่วไป เป็นพันธุ์พื้นเมืองมีหลายพันธุ์ พันธุ์ที่ปลูกในสภาพนา เช่น บือโปะโละ บือพะทอ บือม้ง บือกวา น้ำรู ขามเหนี่ย บือพะโด่ะ เป็นต้น ในสภาพไร่ เช่น เจ้าลีซอ เจ้าฮ่อ น้ำรู ขาวโป่งไคร้ เป็นต้น เกษตรกรมักปลูกข้าวหลากหลายพันธุ์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเสียหายของผลผลิตจากศัตรูพืชต่างๆ เช่น นก หนู โรค และแมลงศัตรูข้าว พันธุ์ข้าวที่สูงจะแตกต่างจากพันธุ์ข้าวที่ปลูกบริเวณพื้นราบทั่วไป เนื่องจากระดับความสูงของพื้นที่และสภาพอากาศที่แตกต่างกัน

        จากการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวที่สูงในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กรมการข้าว
ได้ข้าวพันธุ์รับรอง และพันธุ์แนะนำสำหรับเกษตรกรใช้ปลูก จำนวน 7 พันธุ์ แบ่งเป็นข้าวไร่ 6 พันธุ์ ได้แก่ 
เจ้าขาวเชียงใหม่ เจ้าลีซอสันป่าตอง อาร์ 258 น้ำรู เจ้าฮ่อ ขาวโป่งไคร้ ข้าวนาที่สูง 1 พันธุ์ คือ ข้าวหลวงสันป่าตอง และอยู่ในระหว่างการดำเนินการคัดเลือกพันธุ์โดยมีสายพันธุ์ข้าวดีเด่น จำนวน 4 สายพันธุ์ คือ บือโปะโละ39 บือพะทอ12 ขามเหนีย 26 และยากู่

 

เจ้าลีซอสันป่าตอง

อาร์ 258

น้ำรู

เจ้าฮ่อ

ขาวโป่งไคร

ข้าวหลวงสันป่าตอง

บือโปะโละ 39

บือพะทอ 12

 ขามเหนี่ย26

ยากู่

 

รายชื่อพันธุ์ข้าวบางพันธุ์ที่ปลูกในความสูงระดับต่างๆในภาคเหนือตอนบน


ประวัติ
        ข้าวไร่พันธุ์เจ้าลีซอสันป่าตองเป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง คัดได้จากการเก็บรวบรวมพันธุ์จากอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ปี พ.ศ. 2522 โดยเจ้าหน้าที่การเกษตร สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง ปี พ.ศ. 2523 นำมาปลูกคัดเลือกรวงต่อแถวที่สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง ปี พ.ศ. 2524– 2529 ปลูกรักษาพันธุ์ ที่สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวปางมะผ้า ปี พ.ศ. 2530 – 2533 ปลูกศึกษาพันธุ์และปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานี ปี พ.ศ. 2533 ที่สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวปางมะผ้า ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานีในปี พ.ศ. 2535 – 2537 ที่สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวปางมะผ้า และวิเคราะห์คุณสมบัติของเมล็ดทางกายภาพและเคมีที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในแปลงเกษตรกรในปี พ.ศ. 2537 – 2545 ที่จังหวัดน่าน เชียงราย เชียงใหม่ และ แม่ฮ่องสอน ได้รับการรับรองให้เป็นพันธุ์แนะนำจากกรมวิชาการเกษตร เมื่อปี พ.ศ. 2547

ลักษณะเด่นของพันธุ์
        ข้าวเจ้าลีซอสันป่าตองเป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกได้ในที่ราบและที่สูง
ระดับไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 391 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์เจ้าฮ่อ ร้อยละ 13 ต้านทานต่อโรคไหม้ คุณภาพการสีดี ให้เปอร์เซ็นต์ต้นข้าวและข้าวเต็มเมล็ดดีกว่าข้าวไร่พันธุ์เจ้าฮ่อประมาณร้อยละ 6 แต่ค่อนข้างอ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดหลังขาว

ลักษณะประจำพันธุ์
        ทรงกอ ตั้งตรง ปล้อง กาบใบ ใบ มีสีเขียว ใบมีขน ลักษณะใบธง ตั้งตรง ไม่ล้มง่าย ความสูงประมาณ 145 เซนติเมตร รวงยาวเฉลี่ยประมาณ 24 เซนติเมตร ระแง้ถี่ รวงแน่น การยืดของคอรวงสั้น สีของยอดเมล็ดและเปลือกเมล็ดสีฟาง มีขนบนเปลือกเมล็ด กลีบรองดอกยาว สีของกลีบรองดอกสีฟาง เมล็ดข้าวเปลือกยาว 10.03 มิลลิเมตร กว้าง 3.12 มิลลิเมตร หนา 2.41 มิลลิเมตร รูปร่างของเมล็ดข้าวกล้องยาว 7.26 มิลลิเมตร กว้าง 2.87 มิลลิเมตร และหนา 1.94 มิลลิเมตร จำนวนรวงเฉลี่ย 135 รวงต่อตารางเมตร จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 151 เมล็ด น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 34.5 กรัม เมล็ดมีระยะพักตัวประมาณ 4 สัปดาห์ ออกดอกประมาณวันที่ 16 กันยายน ปริมาณอมิโลส 16.07 % อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ


ประวัติ
        อาร์ 258 เป็นข้าวไร่ข้าวเหนียว ได้คัดเลือกจากพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมือง ชื่อ ดอสามเดือน และให้เลขประจำพันธุ์เป็น อาร์ 258 โดยศูนย์วิชาการ โครงการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรภาคเหนือ สถานีพัฒนาที่ดินห้างฉัตร จ.ลำปาง คณะทำงานโครงการข้าวไร่ที่สูงสถาบันวิจัยข้าวได้นำมาปลูกและศึกษาในการทดลองเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี ในปี พ.ศ. 2525-2529 และมีการทดสอบพันธุ์ข้าวไร่ท้องถิ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร

ลักษณะเด่นของพันธุ์
        ข้าวไร่ อาร์ 258 เป็นข้าวเหนียวไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุสั้น ทนแล้งดีกว่าพันธุ์ซิวแม่จัน ให้ผลผลิต 252 กิโกรัมต่อไร่ เป็นที่นิยมปลูกของเกษตรกร ปลูกได้ในพื้นที่สูงไม่เกิน 700 เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่มีข้อเสีย เมล็ดร่วงง่าย นกมักทำลายเพราะมีอายุสั้น ข้าวไร่ อาร์ 258 อายุประมาณ 106-134 วัน มีความต้านทานปานกลางต่อโรคไหม้ แต่ไม่มีความต้านทานโรคขอบใบแห้ง โรคใบสีส้ม โรคจู๋ โรคเขียวเตี้ย โรคหูดและไม่ต้านทานต่อแมลงบั่วและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ลักษณะของพันธุ์
        พันธุ์ อาร์ 258 มีทรงกอค่อนข้างแน่น มีการแตกกอปานกลาง ให้จำนวนรวง 125 รวงต่อตารางเมตร ความสูงของต้นประมาณ 130 เซนติเมตร ลำต้นมีสีเขียวค่อนข้างแข็งไม่ล้มง่าย ข้อและกาบมีสีเขียว ใบและใบธงค่อนข้างกว้างและยาวปานกลาง ใบค่อนข้างตั้งตรง มีขนเล็กน้อย ใบธงตกเมื่อรวงแก่ เขี้ยวกันแมลงและเยื่อกันน้ำฝน สีฟาง รวงลักษณะยาวปานกลาง ระแง้ถี่ คอรวงสั้นโผล่พ้นใบธงพอดี เมล็ดร่วงง่าย เมล็ดมีสีฟาง ขนบนเปลือกเมล็ดมีมาก เมล็ดข้าวเปลือกยาว 9.67 มิลลิเมตร กว้าง 3.91 มิลลิเมตร หนา 2.35 มิลลิเมตร ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง ยาว 7.14 มิลลิเมตร กว้าง 3.33 มิลลิเมตร หนา 2.15 มิลลิเมตร รูปร่างค่อนข้างป้อม มีสีขาว น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 34.2 กรัม แป้งสุกในอุณหภูมิต่ำ ข้าวสุกมีกลิ่นหอมเล็กน้อย มีความนุ่มน้อยกว่าพันธุ์ข้าวเหนียวสันป่าตอง


ประวัติ
        ข้าวไร่น้ำรูเป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ได้มาจากชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ บ้านน้ำรู ดอยสามหมื่น อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2518 โดยนายวิฑูรย์ ขันติกุล สถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง ได้ทำการปลูกศึกษาพันธุ์ มาจนถึงปี พ.ศ. 2524-2525 ได้นำมาทำการทดลองเปรียบเทียบผลผลิตในแปลงทดลองของสถานีเกษตรที่สูงในจังหวัดเชียงใหม่ และนำเข้าทดลองเปรียบเทียบผลผลิตข้าวไร่ระหว่างสถานีในปี พ.ศ. 2526 และได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร ในปี 2530

ลักษณะเด่นของพันธุ์
        ข้าวไร่น้ำรู เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสงอย่างอ่อน เมื่อปลูกกลางถึงปลาย พฤษภาคม ออกรวง 13-19 กันยายน ในระดับความสูง 1,100-1,250 เมตรจากระดับน้ำทะเล ให้ผลผลิตเฉลี่ย 247 กิโลกรัมต่อไร่ มีความต้านทานปานกลางต่อโรคไหม้ ไม่ต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง ใบสีส้ม โรคจู๋ โรคหูด ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เจริญเติบโตได้ดีที่มีอากาศหนาวและบนที่สูง การชูรวงดีและระแง้ถี่ ต้านทานโรคเมล็ดด่างดี ในสภาพธรรมชาติพันธุ์ข้าวนี้ตอบสนองต่อการใส่ปุ๋ยสูง

ลักษณะประจำพันธุ์
        พันธุ์น้ำรู มีทรงกอค่อนข้างแน่น แตกกอดี ให้จำนวนรวง 174 รวงต่อตารางเมตร มีความสูงประมาณ 140 เซนติเมตร ลำต้นตรงค่อนข้างแข็ง ไม่ล้มง่าย มีสีเขียว ข้อมีสีเขียว ใบยาว มีแผ่นกว้างปานกลางค่อนข้างตรง มีขนเล็กน้อย กาบใบสีเขียว ใบธงตั้งและตกเมื่อรวงแก่ เขี้ยวกันแมลงและเยื่อกันน้ำฝนสีฟาง รวงและคอรวงยาว ระแง้ค่อนข้างถี่ การร่วงเมล็ดปานกลาง ยอดเมล็ดอ่อนสีฟาง เมื่อแก่ไม่มีหางแต่ปลายระแง้บางเมล็ดมีหางสั้น ไม่มีขน เมล็ดข้าวเปลือกยาว 8.95 มิลลิเมตร กว้าง 3.04 มิลลิเมตร หนา 2.08 มิลลิเมตร เมล็ดข้าวกล้องสีขาว ยาว 7.08 มิลลิเมตร กว้าง 2.74 มิลลิเมตร หนา 1.91 มิลลิเมตร รูปร่างค่อนข้างป้อม น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 30.0 กรัม การยืดตัวเมล็ดข้าวสุก 1.74 เท่า ปริมาณอมิโลส 23.4 % ข้าวสุกไม่หอม นุ่มปานกลาง


ประวัติ 
        เจ้าฮ่อ เป็นข้าวไร่พื้นเมืองที่ได้มาจากชาวไทยภูเขาเผ่าลีซอ จังหวัดเชียงราย รวบรวมโดยสถานีทดลองข้าวพาน ในปี พ.ศ. 2522 ระหว่างปี พ.ศ. 2523-2525 ปลูกศึกษาพันธุ์ทดสอบเปรียบเทียบผลผลิตข้าวไร่ระหว่างสถานีภาคเหนือ และในปี พ.ศ. 2526 ทำการทดสอบพันธุ์ข้าวไร่ท้องถิ่น และได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรในปี พ.ศ.2530

ลักษณะเด่นของพันธุ์ 
        ข้าวไร่เจ้าฮ่อ เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสงอย่างอ่อน ออกรวงระหว่าง 17-25 กันยายน เก็บเกี่ยวปลายเดือนตุลาคม ปลูกได้ในพื้นที่สูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล ให้ผลผลิตเฉลี่ย 210 กิโลกรัมต่อไร่ มีความต้านทานโรคไหม้ ต้านทานโรคหูดปานกลาง ไม่มีความต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง ใบสีส้ม โรคจู๋ โรคเขียวเตี้ย ไม่ต้านทานต่อแมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ลักษณะประจำพันธุ์
        ทรงกอตั้งตรง ลำต้นใหญ่ มีขนาดกอปานกลาง ความสูงของต้น 135 เซนติเมตร ลำต้นค่อนข้างแข็งแรง ไม่ล้มง่าย ลำต้นและข้อมีสีเขียว ใบค่อนข้างยาวและกว้าง แผ่นใบมีขน ก้านใบสีเขียว ข้อต่อระหว่างใบและกาบใบสีฟาง ใบธงกว้างและยาว จะตกเมื่อรวงแก่ เขี้ยวกันแมลงและเยื่อกันน้ำฝนสีฟาง รวงยาว ระแง้ถี่ คอรวงโผล่พ้นใบพอดี เมล็ดมีการร่วงปานกลาง สียอดเมล็ดขณะอ่อนมีสีฟาง แก่มีสีน้ำตาล เมล็ดอ่อนสีเขียวสีฟางเมื่อแก่ เมล็ดไม่มีหาง เมล็ดข้าวเปลือกยาว 9.88 มิลลิเมตร กว้าง 3.84 มิลลิเมตร หนา 2.18 มิลลิเมตร ข้าวกล้องมีสีขาว ยาว 7.37 มิลลิเมตร กว้าง 2.83 มิลลิเมตร หนา 1.95 มิลลิเมตร รูปร่างค่อนข้างป้อม น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 33.1 กรัมเปอร์เซ็นต์ท้องไข่ต่ำ การยืดตัวของเมล็ดข้าวสุก 1.64 เท่า ปริมาณอมิโลส 15.8 % ข้าวสุกไม่มีกลิ่นหอม มีความนุ่มน้อยกว่า กข21


ประวัติ
        ข้าวพันธุ์ขาวโป่งไคร้ ได้รวบรวมมาจากบ้านโป่งไคร้ ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยนายวิชัย คำชมภู สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง ในปี พ.ศ. 2523 ได้นำมาศึกษาที่โครงการไร่นาสาธิตแม่เหียะ ต่อมาได้ทำการทดสอบผลผลิตบนที่สูงระดับต่าง ๆ และนำมาทดสอบเปรียบเทียบผลผลิตข้าวไร่ระหว่างสถานี ชุดข้าวเหนียวที่สูง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 และในปี พ.ศ. 2530 ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร

ลักษณะเด่นของพันธุ์
        ขาวโป่งไคร้ เป็นข้าวไร่ที่สูง ข้าวเหนียวไวต่อช่วงแสง ออกรวง 17-22 กันยายน ในระดับความสูง 800-1,250 เมตรจากระดับน้ำทะเล ให้ผลผลิต 248 กิโลกรัมต่อไร่ มีความต้านทานต่อโรคไหม้สูง มีความต้านทานปานกลางต่อโรคขอบใบแห้ง ไม่ต้านทานต่อโรคใบสีส้ม โรคจู๋ เขียวเตี้ย โรคหูด และไม่ต้านทานแมลงบั่ว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ลักษณะประจำพันธุ์
        ข้าวพันธุ์นี้ ทรงกอค่อนข้างแน่น แตกกอพอใช้ ให้จำนวนรวง 143 รวงต่อตารางเมตร ลำต้นตรง ค่อนข้างแข็ง ไม่ล้มง่าย ลำต้นและข้อมีสีเขียว ใบกาบใบสีเขียว ใบยาวเรียว มีขนเล็กน้อย ใบธงค่อนข้างกว้างจะตั้งในระยะแรกและตกในระยะหลัง เขี้ยวกันแมลงและเยื่อกันน้ำฝนสีฟาง รวงยาว เมล็ดร่วงปานกลาง ยอดเมล็ดอ่อนสีฟาง เมล็ดแก่สีน้ำตาลอ่อน เมล็ดมีเปลือกเขียวตองอ่อนแต่แก่มีสีฟาง ไม่มีหาง ไม่มีขน นวดง่ายเมล็ด ข้าวเปลือกยาว 11.07 มิลลิเมตร กว้าง 3.87 มิลลิเมตร หนา 2.49 มิลลิเมตร เมล็ดข้าวกล้องสีขาว ยาว 8.34 มิลลิเมตร กว้าง 3.05 มิลลิเมตร หนา 2.11 มิลลิเมตร รูปร่างป้อมใหญ่ น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 46.2 กรัม ข้าวสุกมีกลิ่นหอมเล็กน้อย นุ่มน้อยกว่าข้าวซิวแม่จัน

 


ประวัติ
        ข้าวหลวงสันป่าตอง เป็นข้าวนาสวนที่สูงพันธุ์พื้นเมือง ชนิดข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ได้มาจากการเก็บรวบรวมพันธุ์จากบ้านปางม่วง หมู่ที่ 10 ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่สูง 925 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยนายวิชัย คำชมภู เจ้าพนักงานการเกษตร สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาได้นำมาคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ที่สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง และโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่ออำเภอเมือง อำเภอเมืองปาน และอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ตั้งแต่ปี 2541 และในปี 2547 ได้รับการรับรองให้เป็นพันธุ์แนะนำจากกรมวิชาการเกษตร

ลักษณะเด่นของพันธุ์
        เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง ทนทานต่อสภาพอากาศหนาวเย็นบนพื้นที่สูง สามารถปลูกได้ดีในระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ให้ผลผลิตค่อนข้างสูงเฉลี่ย 582 กิโลกรัมต่อไร่ สูงกว่าพันธุ์ขามเหนี่ยประมาณร้อยละ 52 คุณภาพการหุงต้มดี ข้าวสุกเหนียวนุ่ม รสชาติดี ข้อควรระวังไม่ต้านทานต่อแมลงบั่ว

ลักษณะประจำพันธุ์
        ทรงกอตั้ง แตกกอมาก ลำต้นตรง ค่อนข้างแข็ง ไม่ล้มง่าย สีของปล้อง ใบ และกาบใบสีเขียว ใบมีขน คอรวงยาว ลักษณะรวงยาว เมล็ดในรวงแน่น ระแง้ถี่ วันออกดอก 15-17 ตุลาคม กลีบรองดอกสั้น เปลือกเมล็ดมีสีฟางกระน้ำตาล มีขนบนเปลือกเมล็ด จำนวนรวงต่อตารางเมตรเฉลี่ย 190 รวงเมล็ดข้าวเปลือกยาว 9.98 มิลลิเมตร กว้าง 3.30 มิลลิเมตร หนา 3.00 มิลลิเมตรเมล็ดข้าวกล้องสีน้ำตาลอ่อน ยาว 7.11 มิลลิเมตร กว้าง 2.93 มิลลิเมตร หนา 2.07 มิลลิเมตร รูปร่างค่อนข้างป้อมใหญ่น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 34.1 กรัม ข้าวสุกเหนียวนุ่ม ปริมาณอมิโลส 14.26 % อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ


ประวัติ
        บือโปะโละ39(SPTC97003) เป็นข้าวนาที่สูงพันธุ์พื้นเมืองชนิดข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง เก็บรวบรวมพันธุ์มาจากบ้านขุนแตะ ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2540 ปลูกคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ที่สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง และโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่ออำเภอเมือง อำเภอเมืองปาน และอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ระหว่างปี 2540-2543 ทดสอบปฎิกิริยาต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว วิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพและทางเคมีของเมล็ดที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ สถานีทดลองข้าวพาน สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง และสถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง เมื่อปี พ.ศ. 2542

ลักษณะเด่นของพันธุ์
        เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง เก็บเกี่ยวประมาณ วันที่ 26-28 ตุลาคม ต้นสูงประมาณ 155-157 เซนติเมตร ทนต่ออากาศหนาวบนที่สูง ปลูกได้ดีตั้งแต่ระดับความสูง 1,000-1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 400 – 495 กิโลกรัมต่อไร่ ต้านทานโรคไหม้และโรคเมล็ดด่าง แต่อ่อนแอต่อแมลงบั่ว ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดหลังขาว โรคใบสีส้มและโรคใบสีแสด

ลักษณะประจำพันธุ์
        ทรงกอแบะ สีของปล้อง กาบใบและใบสีเขียว ใบมีขน ใบธงตั้งตรง คอรวงยาว รวงแน่นปานกลาง เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง มีขนบนเมล็ด ความยาวของกลีบรองดอกสั้น เมล็ดข้าวเปลือกยาว 9.89 มิลลิเมตร กว้าง 2.92 มิลลิเมตรและหนา 2.98 มิลลิเมตร จำนวนรวงต่อตารางเมตรเฉลี่ย 164 รวง จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 135 เมล็ด น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1,000 เมล็ด 20.59 กรัม เมล็ดข้าวกล้องมีรูปร่างค่อนข้างป้อม สีของข้าวกล้องค่อนข้างทึบ เมล็ดข้าวกล้อง เฉลี่ยยาว 6.55 มิลลิเมตร กว้าง 2.55 มิลลิเมตร หนา 1.94 มิลลิเมตร ข้าวสุกมีลักษณะอ่อนนุ่ม เมล็ดมีระยะพักตัวสั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ปริมาณอมิโลส 10.80 เปอร์เซ็นต์ อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ

 


ประวัติ
        ข้าวบือพะทอ12(SPTC97002) เป็นข้าวนาที่สูงพันธุ์พื้นเมือง ชนิดข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสง เก็บรวบรวมพันธุ์จากบ้านขุนแตะ ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2540 ปลูกคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ที่สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง และโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่ออำเภอเมือง อำเภอเมืองปาน และ อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ระหว่างปี 2540-2543 ทดสอบปฎิกิริยาต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว วิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพและทางเคมีของเมล็ดที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ สถานีทดลองข้าวพาน สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง และสถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง เมื่อปี พ.ศ. 2542 และปลูกเป็นพันธุ์ดักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543

ลักษณะเด่นของพันธุ์
        เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสงเก็บเกี่ยวประมาณ วันที่ 24-27 ตุลาคม ต้นสูงประมาณ 154-156 เซนติเมตร ต้านทานโรคไหม้ ต้านทานโรคเมล็ดด่าง ทนต่ออากาศหนาวบนที่สูง ปลูกได้ดีตั้งแต่ระดับความสูง 1,000-1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 440-500 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวสุกอ่อนนุ่ม ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดหลังขาว โรคใบสีส้มและโรคใบสีแสด 

ลักษณะประจำพันธุ์
        ทรงกอแบะ สีของปล้อง กาบใบและใบสีเขียว ใบมีขน ใบธงตั้งปานกลางทำมุม 45? คอรวงยาว รวงแน่นปานกลาง ความยาวของกลีบรองดอกสั้น จำนวนรวงต่อตารางเมตร 208 รวง จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 143 เมล็ด เมล็ดข้าวเปลือกสีฟาง น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1000 เมล็ด 20.91 กรัม เมล็ดข้าวเปลือกยาว 10.40 มิลลิเมตร กว้าง 2.88 มิลลิเมตร หนา 2.86 มิลลิเมตร เมล็ดข้าวกล้องรูปร่างเรียว สีของข้าวกล้องค่อนข้างทึบ ขนาดเมล็ดข้าวกล้อง ยาว 7.25 มิลลิเมตร กว้าง 2.52 มิลลิเมตร หนา 1.83 มิลลิเมตร เมล็ดมีระยะพักตัวสั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ข้าวสุกมีลักษณะอ่อนนุ่ม ปริมาณอมิโลส 10.20 เปอร์เซ็นต์


ประวัติ
        ขามเหนี่ย26(SPTC97001) เป็นข้าวนาที่สูงพันธุ์พื้นเมือง ชนิดข้าวเจ้า ประเภทไวต่อช่วงแสงอย่างอ่อน เก็บรวบรวมพันธุ์จากบ้านป่าคาสันติสุข หมู่ที่ 1 ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2540 หลังจากนั้นนำมาปลูกคัดเลือกพันธุ์ให้บริสุทธิ์ที่สถานีทดลองข้าวสันป่าตองและโครงการพัฒนาพื้นที่รอยต่อ อำเภอเมือง อำเภอเมืองปาน และอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง ระหว่างปี พ.ศ. 2540-2543 ทดสอบปฏิกริยาต่อโรคและแมลงศัตรูข้าว วิเคราะห์คุณภาพทางกายภาพและทางเคมีของเมล็ดที่ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ สถานีทดลองข้าวพาน สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง และสถานีทดลองข้าวและธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง เมื่อปี พ.ศ. 2542 และปลูกเป็นพันธุ์ดักตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543

ลักษณะเด่นของพันธุ์
        เป็นข้าวเจ้าไวต่อช่วงแสงอย่างอ่อน สามารถปลูกฤดูนาปรังได้ อายุเบา เก็บเกี่ยวประมาณ วันที่ 18-22 ตุลาคม ต้นสูงประมาณ 130 - 150 เซนติเมตร ต้านทานโรคไหม้ โรคเมล็ดด่าง ต้านทานต่อแมลงบั่ว แต่ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีขาวและโรคใบสีส้ม ทนต่อสภาพอากาศหนาวบนที่สูง ปลูกได้ดีตั้งแต่ระดับความสูง 1,000-1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ให้ผลผลิตเฉลี่ย 400-600 กิโลกรัมต่อไร่

ลักษณะประจำพันธุ์
        ทรงกอแบะ ปล้อง กาบใบและใบมีสีเขียว ใบมีขน ใบธงตั้งตรง รวงสั้น คอรวงยาว รวงแน่นปานกลาง กลีบรองดอกสั้น จำนวนรวงต่อตารางเมตรเฉลี่ย 118 รวง จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 151 เมล็ด น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1000 เมล็ด 20.73 กรัม เมล็ดข้าวเปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีขนบนเปลือกเมล็ด เมล็ดข้าวเปลือกยาว 9.20 มิลลิเมตร กว้าง 2.98 มิลลิเมตร หนา 2.33 มิลลิเมตร เมล็ดข้าวกล้องรูปร่างค่อนข้างป้อม มีสีขาวขุ่น เมล็ดข้าวกล้องยาว 6.18 มิลลิเมตร กว้าง 2.66 มิลลิเมตร หนา 1.96 มิลลิเมตร เมล็ดมีระยะพักตัวสั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ปริมาณอมิโลส 10.50 เปอร์เซ็นต์ ข้าวสุกมีลักษณะอ่อนนุ่ม


ประวัติ
         ยากู่ (SPTLR82078-PTG-B3-24-1-1) เป็นข้าวนาที่สูง ชนิดข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง ที่ได้จากการผสมพันธุ์ข้าวระหว่าง ข้าว กข 25 กับ B2983B-SR-77-1-3-1 (ข้าวอินโดนีเซีย) ในปี พ.ศ. 2525 ที่สถานีทดลองข้าวสันป่าตอง แล้วส่งเมล็ดข้าวลูกผสมชั่วที่สองขึ้นไปปลูกคัดเลือกที่ศูนย์พัฒนาที่สูงปางตอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และนำมาปลูกศึกษาและทดลองในแปลงทดสอบพันธุ์ข้าวนาสวนในพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่แจ่ม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529

ลักษณะเด่นของพันธุ์
         เป็นข้าวนาที่สูงประเภทข้าวเจ้า ไม่ไวต่อช่วงแสง สามารถปลูกฤดูนาปรังได้ ในฤดูนาปีอายุ 125 วัน ส่วนในฤดูนาปรังอายุประมาณ 160 วัน ต้นสูงประมาณ 115 เซนติเมตร ลำต้นแข็งปานกลาง ทนสภาพอากาศเย็น ค่อนข้างต้านทานต่อโรคขอบใบแห้งและโรคเมล็ดด่าง

ลักษณะประจำพันธุ์
         ทรงกอค่อนข้างแน่น ลำต้นตรง แข็งปานกลาง ปล้อง ข้อ กาบใบและใบมีสีเขียว ข้อต่อระหว่างใบและกาบใบมีสีเขียวอ่อน ใบค่อนข้างเรียวยาวตั้งตรงมีขน เขี้ยวกันแมลงและเยื่อกันน้ำฝนสีฟาง เกสรตัวเมียสีขาว ใบธงตั้งตรง คอรวงโผล่พ้นใบธงปานกลาง รวงยาวปานกลาง ระแง้ถี่ สีของเมล็ดอ่อนสีเขียวแต่แก่มีสีฟาง สีของยอดเมล็ดสีฟาง เมล็ดส่วนมากไม่มีหาง บางส่วนมีหางสั้น เมล็ดมีขนน้อยและสั้น น้ำหนักเมล็ดข้าวเปลือก 1000 เมล็ด 20.65 กรัม เมล็ดข้าวเปลือกยาว 9.70 มิลลิเมตร กว้าง 2.63 มิลลิเมตร หนา 2.00 มิลลิเมตร เมล็ดข้าวกล้องรูปร่างเรียวยาว เมล็ดข้าวกล้องยาว 7.06 มิลลิเมตร กว้าง 2.28 มิลลิเมตร หนา 1.84 มิลลิเมตร ข้าวสุกมีลักษณะอ่อนนุ่มและเลื่อมมัน เมื่อเย็นตัวค่อนข้างร่วน


รายชื่อพันธุ์ข้าวบางพันธุ์ที่ปลูกในความสูงระดับต่างๆในภาคเหนือตอนบน

1. ความสูงไม่เกิน 700 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
        1.1 ข้าวเจ้า : หอมไร่-5, มะแป๋, นิกอ
        1.2 ข้าวเหนียว : อาร์258, ซิวแม่จัน, ซิวแดง, ข้าวลืมหมา(SPTC80135), ข้าวห้าว(SPTC80042), 
มะกอกปี, ดอทัย-3, SMGC89001-6 , สันป่าตอง 1, เหมยนอง 62 เอ็ม

2. ความสูง 700-1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 
        2.1 ข้าวเจ้า : ข้าวหลวงสันป่าตอง, ขามเหนี่ย, เจ้าฮ่อ, เจ้าลีซอสันป่าตอง, บือโปะโละ, บือพะโด่ะ, บือม้ง, บือทอแม
        2.2 ข้าวเหนียว : ขาวโป่งไคร้, แพร่ 1

3. ความสูง 1,000-1,250 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
        3.1 ข้าวเจ้า : เจ้าขาวสันป่าตอง, ข้าวเขียว (SPTC80102), เบล้ไช่, โมโตซ่า,
จะพูม่า, บือพะทอ, บือโปะโละขุนแตะ 
        3.2 ข้าวเหนียว : ขาวโป่งไคร้

4. ความสูง 1,250-1,400 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
        4.1 ข้าวเจ้า : น้ำรู, ลาซอ (SPTC80203), เวตาโม, ขี้ช้าง, ขะสอ
        4.2 ข้าวเหนียว : 

5. ความสูง 1,400-1,600 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
        5.1 ข้าวเจ้า : ดามูดะ
        5.2 ข้าวเหนียว :