กรมการข้าว

พลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรติดตามการดำเนินงานการปลูกข้าว


  •   2021-08-30 14:04:33    1378  

    วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรการปลูกข้าว ณ แปลงสาธิตการเกษตรโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)

   

    พลเอกหญิง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรติดตามการดำเนินงานการปลูกข้าว ณ แปลงสาธิตการเกษตรโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) วันที่ 14 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงทอดพระเนตรการปลูกข้าว ณ แปลงสาธิตการเกษตรโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) โดยมีนายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร อธิบดีกรมการข้าว พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา กราบบังคมทูลถวายรายงาน และผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครนายก พร้อมข้าราชการ เจ้าหน้าที่กรมการข้าวเฝ้าฯ รับเสด็จ


           ในการนี้ นายเฉลิมชาติ ฤาไซยคาม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กราบบังคมทูลถวาย รายงาน การดำเนินงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของแปลงสาธิตการเกษตรในปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ได้ปลูกข้าวพันธุ์ กข 79 ด้วยวิธีการปักดำแบบเดินตาม ในพื้นที่ 8 ไร่เศษ ได้ผลผลิตรวม 5,050 กิโลกรัม และนำไปมอบให้โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เพื่อใช้ในกิจกรรมโรงสีข้าวพระราชทาน รวมทั้งปลูกปอเทืองเพื่อบำรุงดิน และปลูกข้าวโพดหวานพันธุ์ไฮบริกซ์ 3 ได้ผลผลิต 2,050 ฝัก และในปี 2564 ได้รับพระราชทานเมล็ดพันธุ์ข้าว กข 79 จำนวน 1,260 กิโลกรัม ซึ่งได้กระจายพันธุ์ข้าว ให้กับศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน หมู่ที่ 7 บ้านวังต้น ตำบลพรหมณี อำเภอเมืองนครนายก

           นอกจากนี้ ได้วางแผนมอบเมล็ดพันธุ์ข้าวให้สมาชิกที่เป็นเกษตรกร และเครือข่าย รวมทั้งจะนำผลผลิต มาเพิ่มมูลค่า จำหน่ายให้เกษตรกร ในราคาย่อมเยา ส่วนการบริหารจัดการน้ำ ภายในพื้นที่โรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า ได้ดำเนินการ 9 โครงการ อาทิ ปรับปรุงสระเก็บน้ำ ขุดลอกสระเก็บน้ำ คลองระบายน้ำ และก่อสร้างอาคารบังคับน้ำ 2 แห่ง ซึ่งจะสามารถเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำได้ประมาณ 354,000 ลูกบาศก์เมตร และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ด้านโครงการสวนผลไม้ภาคใต้ ตามพระราชดำริ ได้ปลูกผลไม้ 8 ชนิด ได้แก่ มังคุด เงาะโรงเรียน ลองกอง จำปาดะ ผลหม่อน และพริกไทย ผลผลิตที่ได้ มอบให้กำลังพลรับประทาน และจำหน่ายที่ตลาดชุมชน ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี ได้เข้ามาสำรวจ และแนะนำการดูแลผลไม้ การตัดแต่งกิ่ง และจัดการศัตรูพืช


           โอกาสนี้ ทอดพระเนตรการหว่านข้าวพันธุ์ กข 87 ณ แปลงสาธิตการเกษตร โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ใช้วิธีการหว่านแบบนาน้ำตม เป็นวิธีการปลูกที่นิยมในเขตนาชลประทาน ซึ่งข้าวพันธุ์ กข 87 เป็นพันธุ์ข้าวไม่ไวต่อแสง ที่กรมการข้าวประกาศรับรองพันธุ์ เมื่อปี 2563 เป็นข้าวมีคุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี เมื่อหุงสุกค่อนข้างเหนียวนุ่ม ผลผลิตเฉลี่ย 730 กิโลกรัมต่อไร่ และสูงสุดถึง 1,000 กิโลกรัมต่อไร่ เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทาน ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง

 

            จากนั้น ทรงทอดพระเนตรการปลูกข้าวพันธุ์ กข 87 ในการนี้ทรงฟังการกราบบังคมทูลรายงานเรื่อง การปลูกข้าวในแปลงสาธิตการเกษตรโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ซึ่งดำเนินงานสนองพระราชดำริ โดยการทำไร่นาสวนผสมปลูกข้าวและเลี้ยงปลา

 

            ในการนี้นางสาวนลินพร ยิ้มน้อย นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยข้าวฉะเชิงเทรา กราบบังคมทูลถวายรายงานการสาธิตการใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) เพื่อการผลิตข้าว ดังนี้ ด้วยกองวิจัยและพัฒนาข้าวได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับ บริษัท อีซี่ 2018 จำกัด ในการวิจัยพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตรนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานคนของภาคการเกษตรในปัจจุบัน โดยหลักการใช้อากาศยานไร้คนขับ สามารถบรรจุเมล็ดพันธุ์ ได้ครั้งละ 10 กิโลกรัมต่อเที่ยวบิน ใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ตามคำแนะนำของกรมการข้าว จำนวน15-20 กิโลกรัมต่อไร่ บินที่ระดับความสง 3 เมตรเหนือพื้นดิน ระยะความกว้างในการหว่านเท่ากับ 4 เมตร ความเร็วที่ใช้ในการบิน เท่ากับ 2.5 เมตรต่อวินาที อัตราการปล่อยไหลจากถังบรรจุเท่ากับ ร้อยละ 60 ในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้เวลาในการหว่านประมาณ 5-6 นาที ข้อดีของการใช้อากาศยานไร้คนขับทางการเกษตร
สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ใช้แรงงานคนน้อยลงเมื่อเทียบกับวิธีการหว่านแบบเดิม สามารถลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตให้ได้มากยิ่งขึ้น


          นอกจากนั้น นายอัศวิน โรมประเสริฐ ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัท อีซี่ 2018 จำกัด ขอพระราชทานพระราชานุญาตถวายรายงานเกี่ยวกับคุณลักษณะของโดรนทางการเกษตรที่นำมาสาธิตสำหรับหว่านข้าว ดังนี้
1. โดรนทางการเกษตรที่นำมาสาธิตสำหรับหว่านข้าวในครั้งนี้เป็นโดรนทางการเกษตร ยี่ห้อ NAC DRONE รุ่น EASY3 ผลิตโดยบริษัท อีซี่ 2018 จำกัด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายในประเทศ และเป็นบริษัทของคนไทย
2. มีถังบรรจุ ขนาด 10 กิโลกรัม มีจานเหวี่ยงสำหรับทำการหว่านได้ 360 องศา ก่อนหว่านข้าวจะต้องทำการสำรวจและวางแผนเส้นทางการบิน และกำหนดรายละเอียดการบินในโปรแกรมควบคุมโดรนตามหลักวิชาการที่มีการวิจัยร่วมกับกรมการข้าว สามารถเลือกโหมดการบังคับแบบผู้ควบคุมบังคับเอง หรือแบบอัตโนมัติได้
3. นอกจากนำมาใช้หว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว ยังสามารถประยุกต์ใช้สำหรับหว่านปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินซึ่งจะทำให้สามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ย และลดต้นทุนด้านการใช้ปุ๋ยลงได้ และได้ทำการสาธิตการบินโดรนหว่านข้าวในแปลงนาอีกด้วย
ในการนี้ ทรงกดปุ่มปล่อยปลาผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีการเสริมการเลี้ยงปลาในนาข้าว เพื่อเพิ่มอาหารโปรตีน ควบคู่กับการปลูกข้าว เลี้ยงปลาที่เจริญเติบโตง่าย ไม่ทำลายต้นข้าว เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลานิล ปลาสลิด เป็นการเกื้อกูลระบบนิเวศซึ่งกันและกัน ปลาโตด้วยข้าว และอาหารธรรมชาติ ข้าวโต ด้วยปุ๋ยจากปลา กรมประมง เห็นถึงความเหมาะสม จึงได้จัดทำแปลงนา ส่วนหนึ่ง เป็นบ่อรวบรวมปลา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน และกำลังพล เพื่อขยายความรู้สู่การสร้างอาชีพต่อไป โดยมีอธิบดีกรมประมง กราบบังคมทูลถวายรายงาน

นายสร้างสรรค์ ดีรื่น นายช่างภาพชำนาญงาน
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักบริหารกลาง กรมการข้าว : รายงาน