พระราชินีเสด็จตรวจเยี่ยมโครงการร่วมพัฒนาพื้นที่บช. ตชด.เพื่อดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จทรงงานและตรวจเยี่ยมโครงการร่วมพัฒนาพื้นที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อดำเนินงานตาม “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ณ กองบัญชาการตํารวจตระเวนชายแดน ในพื้นที่ค่ายนเรศวร ตําบลชะอํา อําเภอชะอํา จังหวัดเพชรบุรี โดยมี นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ข้าราชการ และบุคลากรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เฝ้ารับเสด็จ ในการนี้ นางสาวนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว พร้อมด้วย นายสันต์ชัย ศีลพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี และเจ้าหน้าที่กรมการข้าว เฝ้ารับเสด็จฯ ในครั้งนี้ด้วย
โครงการร่วมพัฒนาพื้นที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อดำเนินงานตาม “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” นั้นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานที่ดินให้กับสํานักงานตํารวจแห่งชาติ โดยกองบัญชาการตํารวจตะเวนชายแดน ใช้เป็นสถานที่ฝึกปฎิบัติงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทางราชการ และเพื่อให้เป็นไปตามพระราโชบาย ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ทรงสืบสาน และต่อยอดโครงการพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตาม “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” กองบัญชาการตํารวจตะเวนชายแดน ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการร่วมกันดําเนินงานในโครงการพัฒนาพื้นที่ กองบัญชาการตํารวจตระเวนชายแดน ในพื้นที่ค่ายนเรศวร ตําบลชะอํา อําเภอชะอํา จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่รวมประมาณ 15 ไร่เศษ โดยน้อมนําหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ พัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้แก่เกษตรกรและประชาชนในการศึกษาดูงานและทดลองปฏิบัติ เพื่อเกิดประโยชน์ในการส่งเสริมด้านการเกษตร ตามแนวทางตาม “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” สืบต่อไป
ทั้งนี้ การดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการบูรณาการร่วมกันในด้านการเกษตร อาทิ การปลูกข้าวในแปลงนา (พันธุ์กข73) การปลูกข้าว (พันธุ์กข43) การดูแลแปลงผักในโรงเรือนกางมุ้ง การเพาะเห็ด การปลูกถั่วเขียว เป็นต้น ด้านปศุสัตว์ มีการสนับสนุนไก่ไข่พันธุ์ฮอร์น สนับสนุนอาหารสำเร็จรูปสำหรับไก่ไข่ ด้านการประมง มีการเลี้ยงปลาในหนองน้ำ (ปลานวลจันทร์ทะเล จำนวน 1,000 ตัว) การเลี้ยงปลาในนาข้าว (ปลาตะเพียน จำนวน 3,500 ตัว) อีกทั้งยังมีการฝึกอบรมกำลังพลด้านการดูแลแปลงเกษตร โดยการถ่ายทอดความรู้ การจักฝึกอบรม การจัดกิจกรรมจิตอาสา เป็นต้น
ในส่วนการดำเนินงานของกรมการข้าวภายในแปลงเกษตรสาธิตของโครงการฯ นั้น ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรีได้ดำเนินการปลูกข้าว 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ข้าวพันธุ์กข73 และ กข 43 ซึ่งก่อนการจัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าว จะเห็นได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นดินทราย ขาดความอุดมสมบูรณ์ และพบชั้นเกลือเมื่อขุดหน้าดินที่มีความลึกลงไประดับหนึ่ง รวมทั้งประสบปัญหาเรื่องน้ำเค็ม และพันธุ์ข้าวที่ปลูกต้องมีความทนเค็ม ดังนั้น จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นก็จะทำให้ต้องหาวิธีการจากสาเหตุที่พบ และจะแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการแก้ปัญหาของดิน การเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน และความอุดมสมบูรณ์ของดิน ให้สามารถจัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าวได้ รวมถึงองค์ความรู้เรื่องข้าว ว่าพันธุ์ข้าวชนิดใดที่สามารถปลูกในพื้นที่ดังกล่าวได้
โดยจัดทำแปลงสาธิต ข้าวพันธุ์ กข73 ฤดูนาปี 2562 /63 ซึ่งปลูกโดยวิธีการปักดำ พื้นที่ปลูก 2 ไร่ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ซึ่งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี ได้ดำเนินกิจกรรมลงแขกดำนาครั้งแรก ของแปลงนาในโครงการฯ โดยมีหัวหน้าส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเพชรบุรี และผู้บังคับการสนับสนุนทางอากาศค่ายนเรศวร นำกำลังพลและเจ้าหน้าที่ร่วมลงแขกดำนาในครั้งนี้ และได้ทำการเก็บเกี่ยว เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี ได้ดำเนินกิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวครั้งแรกของแปลงนาในโครงการฯ
อีกทั้งในปีนี้มีการปลูกข้าวพันธุ์ กข43 โดยวิธีโยนกล้าจำนวน 8 แปลง พื้นที่ 2 ไร่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2563 ซึ่งขณะนี้ได้เก็บเกี่ยวเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ได้ผลผลิตข้าวเปลือกจำนวน 266 กิโลกรัม ซึ่งได้นำไปสีที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แล้วนำมาบรรจุถุงสุญญากาศ เพื่อส่งกลับคืนให้กับโครงการฯ และในวันที่ 9 กันยายน 2563 ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวราชบุรี ได้นำข้าวสาร ข้าวกล้อง และปลายข้าวจำนวน 163.5 กิโลกรัม ประกอบด้วยข้าวสาร 70.5 กิโลกรัม ข้าวกล้อง 71.5 กิโลกรัม และปลายข้าว 21.5 กิโลกรัม ส่งมอบให้แก่โครงการฯ
และการดำเนินงานในขณะนี้ อยู่ในช่วงไถกลบตอซังและการกำจัดวัชพืชที่ตกค้างภายในดิน (weed seed bank) โดยอาศัยหลักการให้ความชื้นในดินเร่งให้วัชพืชงอกและเจริญเติบโต จากนั้น เตรียมการไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดร่วมกับตอซัง จากนั้น จะทำการใส่ พด.2 เพื่อเร่งการย่อยสลายเศษซากดังกล่าวเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดินในการเตรียมสำหรับการปลูกพืชหลังนา ได้แก่ ปอเทือง และถั่วเขียว โดยกำหนดช่วงปลูกปอเทืองให้ออกดอกในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อเป็นจุดแวะพักให้ประชาชนเยี่ยมชม เนื่องจากอยู่ในเส้นทางหลักสู่ภาคใต้ จากนั้นจะไถกลบปอเทืองเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดินให้พร้อมสำหรับการปลูกข้าวนาปี พันธุ์ กข43 โดยกำหนดปลูกแบบโยนกล้าในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564